ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2573โดยมุ่งเน้นการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้มากขึ้น และให้ความสำคัญถึงความยั่งยืนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้ว มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบประชารัฐ ในความร่วมมือของรัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานที่จะทำให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ของสหประชาชาติ
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนครั้งที่ 6 (6thInternational Conference on Sustainable Energy and Environment) หรือ SEE 2016 จะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ "พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Energy & Climate Change: Innovating for a Sustainable Future)" เป็นการประชุมระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการเปิดเวทีแลกปลี่ยนความคิดเห็น และมีสวนร่วมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเป็นการจัดงานร่วมกันของ 3 งาน ได้แก่ 1.งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านนวัตกรรมเขียวและความยั่งยืนครั้งที่ 6 (6thInternational Conference on Green and Sustainable Innovation) หรือ ICGSI 2016 2. งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านภูมิอากาศ (1stInternational Conference on Climate Technology and Innovation) หรือ CTI 2016 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และ 3.งานประชุมเชิงปฏิบัติการวาระพิเศษ "Franco-Thai Workshop on Smart Grid"
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการวาระพิเศษ "Franco-Thai Workshop on Smart Grid" สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้จัดการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Grid ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส ทั้งในด้านของการวางแผน การดำเนินการในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grid โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบายรวมถึงผู้ประกอบการ จากทั้งประเทศฝรั่งเศส และประเทศไทย ที่กำลังดำเนินงานปรับเปลี่ยนระบบโครงข่ายไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนนโยบายและมาตรการและแผนงาน นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และแนวทางการดำเนินการ โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จะเป็นผู้ดำเนินรายการประชุม และเป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญ ร่วมกับ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย เช่น Prof. NouredineHadj-Said, Director of GIE-Idea at Laboratoired'Electrotechnique de Grenoble and Chair of the Scientific Council of "Think Smart Grid" ประเทศฝรั่งเศส ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Schneider Electric และนักวิชาการจากภาคการศึกษาและวิจัยของประเทศไทย"การพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็ระบบ Smart Grid นั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น และมีศักยภาพในการนำมาซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคต ที่สามารถรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในปริมาณที่มากขึ้น นอกจากนี้ระบบ Smart Grid ยังทำให้การบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ตั้งแต่ภาคการผลิตไฟฟ้า (Generation) การส่งไฟฟ้า (Transmission) การจำหน่ายไฟฟ้า (Distribution) และการใช้ไฟฟ้า (Consumption) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปสู่การให้บริการด้านไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Joint Graduate School of Energy and Environment – JGSEE) และประธานคณะกรรมการการประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่าJGSEEและศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านนวัตกรรมเขียวและความยั่งยืนครั้งที่ 6 (6thInternational Conference on Green and Sustainable Innovation) หรือ ICGSI 2016 และงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านภูมิอากาศ (1stInternational Conference on Climate Technology and Innovation) หรือ CTI 2016 โดยได้เชิญ ดร.พิเชฐดุรงคเวโรจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประชุมฯ และแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง "นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย"
สำหรับภายในงานมีปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรระดับนานาชาติทั้งหมด 11 ท่าน เช่น ดร.มาร์ตินเคลเลอร์ ผู้อำนวยการของ National Renewable Energy Lab (NREL) ภายใต้กระทรวงพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ฮิเดโตชิ นิชิมูระ ประธานของ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) จากประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ราล์ฟซิมส์ จากMassey University ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้มีบทบาทสูงในคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) และอดีตนักวิเคราะห์อาวุโสของ International Energy Agency (IEA) ศาสตราจารย์ เนาเรไดน์ฮาดจ์-ซาอิด ประธาน Scientific Council of Think Smart Grids ประเทศฝรั่งเศส รวมถึง ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)นอกจากนี้ยังมีวิทยากรรับเชิญ รวมถึงผู้เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่อง จาก 15 ประเทศ ทั้งในแบบการนำเสนอผลงาน ภายใต้หัวข้อพลังงานทดแทน อาคารประหยัดพลังงาน ระบบพลังงานและนโยบายด้านพลังงาน ระบบการผลิตและการแปรรูปที่ยั่งยืน และระบบการรองรับความยั่งยืน ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับการประชุมวิชาการSEE Conferenceมีการจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับความท้าทายในการจัดการปัญหาด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนการประชุม ICGSI 2016 เป็นการประชุมสหวิทยาการนานาชาติเกี่ยวกับวิศวกรรมกระบวนการเพื่อการพัฒนาสังคมและภูมิภาคที่ยั่งยืน ในขณะที่การประชุม CTI 2016 เป็นการประชุมนานาชาติที่เน้นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม