ศ. พญ.อุษา ทิสยากร ประธานการประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียกล่าวภายหลังพิธีเปิด"การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียปี 2016" (8th Asian Congress of Pediatric Infectious Diseases (ACPID 2016) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าโรคติดเชื้อในเด็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทยและของโลก แต่ละปีเด็กทั่วโลกจะเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อ นับหลายแสนราย โรคติดเชื้อหลายชนิดที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ อุจจาระร่วง มือ เท้า ปาก คางทูม อีสุกอีใส หัด ไข้เลือดออก ไข้ซิกา รวมทั้งโรคติดเชื้อเอชไอวีที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ฯลฯ จากสถิติขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF)พบว่าเฉพาะปี พ.ศ. 2558 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกจำนวนมากถึง 900,000 รายที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือกว่าร้อยละ 50 ของเด็กในโลกนี้อยู่ที่ทวีปเอเชีย
ปีนี้ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย( Asian Society for Pediatric Infectious Diseases) จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยจัด"การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียปี 2016" (8th Asian Congress of Pediatric Infectious Diseases (ACPID 2016)ขึ้น ภายใต้แนวคิด"Working Together to Safeguard Children" "รวมพลังเพื่อปกป้องเด็ก" จากโรคติดเชื้อต่างๆ
งานประชุมครั้งนี้มีเรื่องเด่นๆที่น่าสนใจได้แก่ การหาทางออกในการแก้ไขโรคไข้เลือดออกที่รุนแรง ความก้าวหน้าวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก วัณโรคกับการวินิจฉัยและการดื้อยา โรคในเขตร้อนที่ถูกละเลย การติดเชื้อในทารกแรกเกิด สุขภาพของเด็กกับการเดินทาง วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในเด็ก รวมทั้งโรคติดเชื้อในเด็กที่สำคัญ เช่น เอดส์ โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เช่น ไข้ซิกา ไข้หวัดใหญ่ โรคที่ติดมาจากสัตว์ โรคติดเชื้อในสมอง การติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นต้น โดยจะมีแพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ตลอดจนวิชาชีพต่างๆจากทั่วโลก มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และผลงานทางวิชาการร่วมกัน เพื่อนำเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก ตัวอย่างเช่น ผลงานการกำจัดยุงที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก โดย Dr.Olaff ,การป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียในเด็ก โดย Prof. Nick white ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้เข้าร่วมในการนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะแสดงให้เวทีโลกเห็นว่าเรามีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อในเด็กได้ ดังเช่น ความสำเร็จในการป้องกันเอดส์จากแม่สู่ลูก เป็นต้น ซึ่งผลงานนี้จะขยายไปในเวทีโลกและจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
ด้านรศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยในฐานะประธานฝ่ายวิชาการการประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียกล่าวว่าโรคติดเชื้อในเด็กที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มประเทศในอาเซียน ตัวอย่างเช่น วัณโรค คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน หัด หัดเยอรมัน ในอดีตโรคต่างๆ เหล่านี้นับเป็นสาเหตุการตายของเด็กจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคติดเชื้อเหล่านี้ได้ด้วยวัคซีน ซึ่งงานด้านวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัคซีน ทรงให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคแก่เด็กไทย โดยในปี พ.ศ.2493 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้าง "อาคารมหิดลวงศานุสรณ์" บริเวณสถานเสาวภา สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และการผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้นใช้เอง แทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศและใช้เป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคแก่เด็กไทย ซึ่งวัคซีนบีซีจีที่ประเทศไทยผลิตได้เองนั้น นอกจากจะใช้ป้องกันวัณโรคแก่คนไทยได้ผลดีแล้ว ยูนิเซฟยังได้สั่งซื้อวัคซีนบีซีจีจากประเทศไทยเพื่อส่งไปให้ประเทศอื่นๆในเอเชียได้ใช้ด้วย
ในนามของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอสนองพระราชปณิธานและดำเนินรอยตามพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานด้านวัคซีนเพื่อปกป้องเด็กจากโรคติดเชื้อ จะเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการศึกษา ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในเด็กให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กไทยเข้าถึงและได้รับวัคซีนที่จำเป็นอย่างครอบคลุม รวมทั้งได้รับวัคซีนใหม่ๆตามสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลก เพื่อให้เด็กไทยปลอดภัยจากโรคและมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างประเทศในอนาคต
โดยใน "การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียปี 2016" ครั้งนี้ จะมีการพูดคุยถึงการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กของประเทศสมาชิก รองรับการเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสมาคมอาเซียนด้วย/.รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit