ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มจธ. กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการว่าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทีมงานตั้งใจจะผลิตสื่อที่มีข้อมูลที่สำคัญทุกอย่างรวมอยู่ โดยเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ใช้งานสะดวก มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และต้องเป็นสื่อที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนักศึกษา
"งานนี้ค่อนข้างด่วน ต้องการข้อมูลที่ละเอียดและใช้งานได้จริง อีกทั้งยังเป็นโจทย์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนการสอนของมีเดียอาตส์ที่ มจธ. ที่เราเน้นให้นักศึกษานำโจทย์จริงจากภายนอกมาทำอยู่แล้ว แต่โจทย์นี้ต่างจากในห้องเรียนตรงที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคม เป็นงานด่วนที่ต้องมีความแม่นยำสูง และกลุ่มผู้ใช้มีความหลากหลายค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมองว่างานนี้เป็นโอกาสที่นักศึกษาเราจะได้เรียนรู้แบบบูรณาการและฝึกกระบวนการทำงานเพื่อผลิตผลงานออกสู่ผู้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ"
ทางด้านนายธีรยุทธ มงคลอัตตะสาร อาจารย์ประจำวิชากราฟิกดีไซน์สตูดิโอ มจธ. กล่าวเสริมอีกว่าในขั้นตอนการผลิตงานได้ร่วมกับนักศึกษาเอกกราฟิกชั้นปี 4 จำนวน 42 คน โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้ต้องการข้อมูลอะไร แล้วแบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทุกเส้นทาง คัดกรองและอัพเดทข้อมูล จนกระทั่งงานออกแบบออกมาเสร็จสมบูรณ์ส่งเข้าโรงพิมพ์
"ข้อมูลหลักๆ ที่ระบุอยู่ในคู่มือดังกล่าวเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารในจุดต่างๆ รอบกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางต่อมายังสนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นจากขนส่งหมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ ถนนพระรามสอง หรือสนามบิน โดยแจ้งรายละเอียดการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ไว้ให้ผู้ใช้เลือกตามความสะดวกทั้งทางรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS-MRT ทางเรือ หรือจุดบริการรถฟรีตามสถานที่ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด นอกจากนั้นยังมีแผนที่แสดงตำแหน่งของสิ่งต่างๆ รอบสนามหลวงทั้งจุดนัดพบ ที่พักแรม ร้านอาหาร ห้องน้ำ จุดชาร์ทโทรศัพท์ และตู้เอทีเอ็ม ซึ่งล้วนแต่คัดเลือกข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้ใช้จริงๆ ทั้งสิ้น"
นอกจากนั้นนายธิติพัทธ์ ทวีชัยรุ่งทรัพย์ นักศึกษาที่รับหน้าที่เป็น Art Direction ในงานนี้และเป็นตัวแทนของทีมงานนักศึกษากลุ่มนี้กล่าวว่า พวกเขาเลือกทำสื่อออกมาในรูปแบบสิ่งพิมพ์ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย นอกจากข้อมูลที่ต้องละเอียดครบถ้วนและอัพเดทอยู่เสมอแล้ว ตัวอักษรในคู่มือก็ต้องอ่านง่าย เข้าใจง่าย และพกพาสะดวก เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและผู้สูงอายุที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด
"พวกเราดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับโอกาสทำงานชิ้นนี้ ทุกคนตั้งใจมาก เพราะเข้าใจความลำบากของคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อจะมายังสนามหลวง พวกเราบางคนอยู่กรุงเทพฯ ยังไม่รู้วิธีเดินทางเลย เราจึงอยากจะทำคู่มือที่ทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้จริงๆ ไม่ใช่แค่งานออกแบบให้สวยงามถูกใจเรา แต่งานชิ้นนี้เราได้เรียนรู้ที่จะคำนึงถึงผู้อื่น และเรียนรู้การผลิตสื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากมันได้อย่างแท้จริง"
เบื้องต้นคู่มือดังกล่าวถูกจัดพิมพ์ขึ้นมาแล้วจำนวน 5 แสนฉบับ ซึ่ง มจธ. ได้ส่งมอบให้ กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย กทม. นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ อาทิ สนามบิน สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ หัวลำโพง และสถานีรถไฟฟ้าทั้ง BTS, MRT และ Airport Rail Link และจะเผยแพร่ในรูปแบบสื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่ทาง Social Network ต่างๆ เพื่อขยายการรับรู้และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากจิตสำนึกในความจงรักภักดีของทีมงานทุกคนแล้วที่มีความตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ในเวลาที่กระชับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาเอง คือการที่พวกเขาได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ความต้องการจริงจากคนจำนวนมหาศาล ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนที่เรียนมา เป็นประสบการณ์ที่สอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมอีกด้วย
สุดท้าย ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มจธ. กล่าวขอบคุณเพิ่มเติม ว่า งานดังกล่าวได้มีหน่วยงานภายนอกร่วมให้การสนับสนุนในการจัดพิมพ์สื่อประชาสัมพันธ์ ครั้งนี้ ในมูลค่าหลายแสนบาท ประกอบด้วย MODERN FILM CENTER บริษัท กระดาษ SCG และ บริษัท โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นเครือข่าย กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งประเทศไทย และขอบคุณ นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้หมด.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit