จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 27/2559

07 Nov 2016
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 27/2559 วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2559 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาคือ เรื่องผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และแนวทางการคำนวณดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, เรื่องแนวทางการจัดทำแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย, แนวทางการปรับปรุงประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม, การปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม, ร่างประกาศเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. อาจบรรจุวาระเพิ่มเติมเรื่องร่างประกาศอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. … ให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ด้วย

วาระผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่น 900 MHz และแนวทางคำนวณดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ในวาระนี้ สำนักงาน กสทช. นำเสนอผลการตรวจสอบเงินรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 มิถุนายน 2559 ภายใต้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับที่ 2 (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) ซึ่งดำเนินการศึกษาและตรวจสอบโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ แนวทางการตรวจสอบรายได้ของคณะทำงานฯ ยังคงหลักการเดียวกันกับกรณีการตรวจสอบรายได้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 1800 MHz กล่าวคือ เป็นการพิจารณาจากรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต่อการให้บริการ โดยรายได้ที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งในส่วนของรายได้จากค่าบริการค้าปลีก รายได้จากค่าบริการค้าส่ง และรายได้อื่นๆ เช่น รายได้จากค่าใช้อุปกรณ์ Signaling Gateway-HSL & Sigtran รายได้จากการให้บริการสื่อสัญญาณและวงจรสื่อสาร รายได้จากการให้บริการร่วมใช้พื้นที่ เสาอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารและสถานีฐาน เป็นต้น

สำหรับผลการตรวจสอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย โดยยังไม่รวมค่าใช้โครงข่ายของ บมจ. ทีโอที คณะทำงานฯ ตรวจสอบแล้วระบุว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ต้องนำส่งรายได้เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินจำนวนทั้งสิ้น 4,558.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.68% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้เสนอแนวทางการคำนวณดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาด้วย โดยคิดแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการคิดดอกผลเป็นรายเดือนตามอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์นิติบุคคลเฉลี่ยของสี่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ที่มีการฝากเงินรายได้ทุกสิ้นงวดในแต่ละเดือนและคำนวณมาถึงวันครบกำหนด 30 วันนับแต่วันที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ชำระเงิน เนื่องจากประกาศมาตรการเยียวยาฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการจะต้องแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ และส่วนที่สอง หากผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดคำนวณโดยใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย ซึ่งแนวทางเดียวกันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งนี้เพื่อนำไปใช้คำนวณเงินรายได้จากการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz ที่ฟ้อง บจ. ทรู มูฟ และ บจ. ดิจิตอล โฟน ด้วย

แม้ผลการตรวจสอบเงินรายได้ของคณะทำงานฯ ก่อนหักค่าใช้โครงข่าย จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว แต่ในการเรียกเก็บเงินรายได้จากผู้ให้บริการเพื่อนำส่งรัฐ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากที่ผ่านมา บมจ. ทีโอที ได้มีหนังสือทวงถามให้สำนักงาน กสทช. ชำระค่าใช้โครงข่ายและค่าใช้ทรัพย์อื่นๆ มาเป็นระยะๆ โดยเรียกยอดรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 มิถุนายน 2559 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 14,563.51 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่สูงกว่าผลตรวจสอบเงินรายได้ของคณะทำงานฯ ที่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ต้องนำส่งกว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนปมที่ กทค. ผูกขึ้นใหม่ให้ซับซ้อนขึ้นอีกจากการประชุมครั้งที่ 22/2559 โดย กทค. มีมติเห็นชอบผลการคำนวณเงินนำส่งรายได้กรณีคลื่น 1800 MHz ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ แทนผลการตรวจสอบรายได้ของคณะทำงานฯ ซึ่งมียอดเงินก่อนหักค่าใช้โครงข่ายน้อยกว่าผลการตรวจสอบรายได้ของคณะทำงานฯ กว่า 11,000 ล้านบาท แม้ กทค. จะมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำผลการคำนวณรายได้ไปปรึกษาหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งในการตรวจสอบเงินรายได้จากการให้บริการบนคลื่น 900 MHz จะมีการนำเสนอผลการคำนวณที่แย้งกับคณะทำงานฯ อีกหรือไม่ หรือถ้าเห็นชอบกับผลการตรวจสอบเงินรายได้ของคณะทำงานฯ ครั้งนี้ ก็จะเกิดประเด็นขัดแย้งว่า เหตุใดจึงไม่เห็นชอบผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้จากการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz ทั้งที่คณะทำงานฯ ใช้หลักเกณฑ์การตรวจสอบเดียวกัน

วาระแนวทางการจัดทำแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย

วาระนี้สืบเนื่องจากความต้องการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำแนวทางการจัดทำแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทยไปจัดรับฟังความเห็นในลักษณะการจัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรทางด้านคุ้มครองผู้บริโภค และนักวิชาการ

ทั้งนี้ ผลการหารือที่ประชุมเฉพาะกลุ่ม เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เป็น 10 หลัก โดยเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 ซึ่งแนวทางนี้จะส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 760 ล้านเลขหมาย และโทรศัพท์ประจำที่ 100 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโทรคมนาคมส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียง บมจ. ทีโอที ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ที่เป็นชุมสายรุ่นเก่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนระบบ ซึ่งมีจำนวน 13 แห่งทั่วประเทศ และจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการอย่างช้าภายในปี 2561 ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี มิเช่นนั้นประเทศไทยอาจประสบปัญหามีเลขหมายโทรคมนาคมไม่เพียงพอขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอแนวคิดปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคมให้มีการกำหนดประเภทเลขหมายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือ Tablet ต่างๆ และอุปกรณ์ M2M แยกออกจากเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแนวทางนี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคตได้ด้วย

สำหรับวาระนี้ หากที่ประชุม กทค. มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ ก็ควรเร่งรีบนำเสนอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบความจำเป็นที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว รวมทั้งข้อจำกัดของ บมจ. ทีโอที ในเรื่องการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมให้ทันสมัย เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนต่อไป

วาระแนวทางการปรับปรุงประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม

สืบเนื่องจากการออกประกาศ กสทช. เรื่อง นิยามของตลาดและขอบเขตตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2557 และคำสั่ง กสทช. เรื่อง ระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดที่เกี่ยวข้องฯ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ทำให้ปัจจุบันบริการที่ต้องทำรายงานบัญชีแยกประเภทตามภาคผนวก 1 ของประกาศบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมไม่สอดคล้องกับบริการที่กำหนดในประกาศนิยามตลาดฯ พ.ศ. 2557 ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางการแก้ไขปรับปรุงประกาศบัญชีแยกประเภทฯ ขึ้น เพื่อให้ กทค. พิจารณา ก่อนนำไปปรับปรุงแบบจำลองต้นทุนและคู่มือการจัดทำบัญชีแยกประเภท เพื่อนำผลดังกล่าวไปจัดทำร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทฉบับใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทฯ มีบางประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมจากแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้บัญชีแยกประเภทสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ

แนวทางการให้ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดฯ จัดทำรายงานบัญชีในลักษณะเป็นรายๆ ไปนั้น อาจทำให้รายงานบัญชีแยกประเภทที่ส่งมานั้นไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมประกอบกิจการในรูปแบบกลุ่มบริษัท การบังคับให้บริษัทย่อยจัดส่งรายงานบัญชีแยกประเภทเฉพาะของบริษัทนั้นๆ มา ย่อมไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมการอุดหนุนไขว้ระหว่างบริการ และพฤติกรรมการต่อต้านการแข่งขันอื่นๆ ได้ ดังนั้นควรต้องมีแนวทางกำกับดูแลที่รอบคอบรัดกุมขึ้น เช่น หากผู้รับใบอนุญาตรายใดถูกกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดหนึ่งตลาดใดแล้ว ผู้รับใบอนุญาตควรต้องจัดส่งบัญชีแยกประเภทเป็นแบบบัญชีรวมทั้งกลุ่มบริษัท เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้หลักบัญชีราคาต้นทุนเดิม (Historical Cost Accounting: HCA) มาคำนวณต้นทุนการให้บริการโทรคมนาคมในรายงานบัญชีแยกประเภทอาจไม่สะท้อนต้นทุนการให้บริการที่เป็นปัจจุบัน ขณะที่สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นการแข่งขันกันที่ต้นทุนในปัจจุบัน ไม่ใช่ต้นทุนในอดีต รายงานบัญชีแยกประเภทจึงควรอยู่บนพื้นฐานของราคาในปัจจุบัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการให้บริการในปัจจุบันของผู้รับใบอนุญาต และสอดคล้องกับแนวทางทางการพิจารณาต้นทุนการให้บริการโทรคมนาคมที่มีการกำกับดูแลในปัจจุบัน อย่างเช่นการกำกับดูแลอัตราค่าบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทางจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น

วาระแก้ไขประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสาหรือเดินสายฯ

วาระนี้เป็นการนำเสนอ กทค. พิจารณาเรื่องการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งผ่านการนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้ว

สาเหตุที่สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงประกาศนี้เนื่องจากประกาศฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลายประเด็นที่ไม่ครอบคลุมในเรื่องของการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการพาดสายสื่อสารจำนวนมากจนเกิดความรกรุงรัง เนื่องจากไม่มีการรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานออกไป และไม่มีการเปลี่ยนสายขนาดเล็กหลายๆ เส้นเป็นสายขนาดใหญ่ขึ้น

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการปรับปรุงในร่างประกาศฉบับใหม่ คือ มีการปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณาการขอใช้สิทธิให้มีความรวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตให้ต้องดำเนินการบำรุงรักษา ปรับปรุงแก้ไขในทรัพย์สินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และต้องจัดระเบียบสายไม่ให้รกรุงรัง ให้รื้อถอนสายที่ไม่ใช้งานออกไป ส่วนในเส้นทางวิกฤต ก็ให้ยุบรวมสายให้เหลือน้อยเส้นและนำสายที่ไม่ใช้งานออก พร้อมทั้งแจ้งวันรื้อถอนให้เจ้าของทรัพย์สินและ กทค. ทราบเพื่อตรวจสอบ รวมถึงการอนุญาตให้พาดสายได้จำนวนเท่าใดนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตพาดสายไปบนเสาไฟฟ้าหรือทรัพย์สินใดโดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิดำเนินการแจ้งให้นำสายสื่อสารออก แจ้งความดำเนินคดี รื้อถอนสาย หรือการอื่นใดตามที่หลักเกณฑ์กำหนดได้

วาระนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากนี้เมื่อมีการออกประกาศฉบับใหม่ จะสามารถแก้ไขปัญหาการปักเสาพาดสายรกรุงรังที่อยู่คู่สังคมไทยมานานได้จริงมากน้อยเพียงใด

วาระร่างประกาศเรื่องการลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก

วาระนี้ สำนักงาน กสทช. นำเสนอ กทค. เพื่อพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การลดหรือยกเว้นค่าบริการสำหรับการใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 3 หลัก 4 หลัก ที่ได้รับการปรับปรุงภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยการยกร่างประกาศดังกล่าวนั้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57 วรรคสอง ที่กำหนดว่า "คณะกรรมการอาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมหรือค่าบริหารสำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้ของประชาชนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด"

สำหรับสาระหลักของร่างประกาศดังกล่าว กำหนดว่า ในกรณีการขอยกเว้นค่าบริการ ผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นที่ไม่แสวงหากำไรที่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติภารกิจโดยตรงตามกฎหมาย ส่วนในกรณีการขอลดค่าบริการ ผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติภารกิจโดยตรงตามกฎหมายเพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศในกรณีให้คำปรึกษาด้านคุณภาพชีวิต หรือความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ครอบครัว ยาเสพติด หรือสวัสดิการสังคม โดยสามารถขอลดหย่อนค่าบริการในอัตราร้อยละ 50 ของค่าบริการที่ใช้งานจริง ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์การลดหรือยกเว้นค่าบริการดังกล่าว จะช่วยลดภาระและส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรในบริการที่กำหนด ส่วนภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็อยู่ในระหว่างที่สำนักงาน กสทช. กำลังพิจารณาเพื่อให้การสนับสนุนผ่านการนำค่าใช้จ่ายมาใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม USO ได้

วาระเรื่องร่างประกาศอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. …

วาระนี้เป็นเรื่องสำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอ กทค. พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องประกาศอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราอ้างอิง พ.ศ. … (ประกาศอัตรา IC อ้างอิง) ภายหลังจากที่นำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทั้งนี้ อัตรา IC อ้างอิงจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมไม่สามารถเจรจาตกลงอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันได้ หรือในกรณีที่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้น โดยในร่างประกาศฉบับนี้ ส่วนของกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดอัตรา IC อ้างอิงของบริการ Mobile Call Origination และ Mobile Call Termination ในปี 2560 อยู่ที่ 0.27 บาท/นาที และในปี 2561 อยู่ที่ 0.19 บาท/นาที ส่วนบริการ Mobile Call Transit อยู่ที่ 0.03 บาท/นาที

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า ในการรายงานสรุปผลรับฟังความคิดเห็นสาธารณะให้ กทค. รับทราบนั้น ไม่มีความเห็นของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการกำหนดอัตรา IC อ้างอิงนี้ รวมถึงยังพบด้วยว่า อัตรา IC อ้างอิงที่กำหนดขึ้นนี้ มีการถ่ายโอนต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่มายังค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่งส่งผลให้อัตรา IC อ้างอิงมีอัตราสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่โดยหลักการแล้วไม่ควรนำต้นทุนจากการประมูลคลื่นความถี่มาคำนวณ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชนะการประมูลผลักภาระต้นทุนจากการประมูลไปให้กับผู้ใช้บริการ อีกทั้งการกำหนดอัตรา IC อ้างอิงที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นอุปสรรคในการแข่งขันของผู้ให้บริการขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการประเภทโครงข่ายเสมือน