ประชาชนร้อยละ 47.57 ระบุเคยทำบุญบริจาคเงินผ่านทางออนไลน์ 60.19% คิดว่าระบบทำบุญออนไลน์ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทำบุญมากขึ้น แต่ร้อยละ 69.14 เชื่อว่ามีมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวง

07 Nov 2016
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการทำบุญออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,173 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า การทำบุญบริจาคเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัด/ศาสนสถาน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานศึกษา ถือเป็นกิจกรรมที่คนไทยนิยมปฏิบัติในวาระโอกาสสำคัญ เช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น รวมถึงในโอกาสทั่วๆไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยในอดีตผู้คนมักนิยมเดินทางไปทำบุญบริจาคเงินยังสถานที่ตั้งของหน่วยงานหรือองค์กร และในเวลาต่อมาจึงมีการวิวัฒนาการโดยการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อให้ผู้คนที่ไม่สะดวกในการเดินทางมายังสถานที่ตั้งของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆสามารถทำธุรกรรมบริจาคเงินยังสาขาของธนาคารได้ จนกระทั่งมาถึงในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาและขยายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้เข้าถึง จึงทำให้หน่วยงานหรือองค์กรบางแห่งเพิ่มช่องทางในการทำบุญบริจาคเงินโดยผ่านระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีความประสงค์จะทำบุญบริจาคเงิน นอกจากนี้ยังมีผู้พัฒนาระบบเว็ปไซด์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สนใจได้เข้าไปเลือกทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆได้อย่างรวดเร็ว

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบบการทำบุญบริจาคเงินออนไลน์กันอยู่ โดยบางส่วนเห็นด้วยว่าเป็นการช่วยกระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทำบุญบริจาคเงินแต่ไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกในการเดินทาง แต่บางส่วนยังคงตั้งข้อสังเกตว่าเงินที่บริจาคทางออนไลน์นั้นจะไปถึงยังหน่วยงานหรือองค์กรและถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ รวมถึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าการทำบุญออนไลน์อาจจะได้บุญน้อยกว่ากาการเดินทางไปทำบุญด้วยตนเอง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการทำบุญออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.81 เพศชายร้อยละ 49.19 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการทำบุญบริจาคเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.71 ระบุว่าตนเองเคยทำบุญบริจาคเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรต่างๆโดยการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.29 ไม่เคย ส่วนในด้านการทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้น กลุ่มตัวอย่างไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.57 ระบุว่าตนเองเคยทำบุญบริจาคเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรต่างๆทางออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.43 ระบุว่าไม่เคย โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.04 ของผู้ที่เคยทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนิยมทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านเว็ปไซด์ของหน่วยงาน/องค์กรนั้นๆโดยตรง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 15.41 ที่นิยมทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านเว็ปไซด์ที่ให้บริการระบบทำบุญออนไลน์กับหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.55 นิยมทำบุญบริจาคเงินผ่านเว็ปไซด์ทั้งสองประเภทเท่าๆกัน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.84 ระบุว่าตนเองเคยได้รับหลักฐานยืนยันการทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ เช่น ใบเสร็ทรับเงิน ใบอนุโมธนาบัตร จากหน่วยงาน/องค์กร/เว็ปไซด์ที่ตนเองทำบุญบริจาคเงินทุกครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.64 ระบุว่าเคยได้รับบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.52 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยได้รับหลักฐานเลย

ในด้านความรู้สึกต่อการทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.78 ระบุว่าตนเองไม่กลัวถูกหลอกลวงในการทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.06 ยอมรับว่ากลัวถูกหลอกลวง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.16 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อการทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.91 มีความคิดเห็นว่าระบบทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนทำบุญบริจาคเงินได้ง่ายขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.19 มีความคิดเห็นว่าระบบทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทำบุญบริจาคเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรต่างๆเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.2 มีความคิดเห็นว่าระบบทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะไม่มีส่วนลดจำนวนผู้คนที่เดินทางไปทำบุญบริจาคเงินยังสถานที่ตั้งของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆลง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.14 มีความคิดเห็นว่าระบบทำบุญบริจาคเงินออนไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.42 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจสอบระบบทำบุญออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันเพื่อป้องกันปัญหาการใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของมิจฉาชีพหรือไม่

สำหรับความคิดเห็นต่อการได้บุญจากการทำบุญบริจาคเงินออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.53 มีความคิดเห็นว่าการทำบุญบริจาคเงินออนไลน์จะได้รับบุญเท่ากับการเดินทางไปทำบุญบริจาคเงินยังสถานที่ตั้งของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.64 มีความคิดเห็นว่าได้บุญน้อยกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.83 ไม่แน่ใจ

และเมื่อเปรียบเทียบวิธีการต่างๆในการทำบุญบริจาคเงิน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.43 นิยมเดินทางไปทำบุญบริจาคเงินยังที่ตั้งของหน่วยงาน/องค์กรมากที่สุด รองลงมานิยมทำบุญบริจาคเงินโดยการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบัญชธนาคารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.02 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.79 นิยมทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.76 นิยมทำบุญบริจาคเงินผ่านทั้ง 3 วิธีเท่าๆกัน