“รัฐมนตรีเกษตรฯ” สั่งกรมชลฯ เตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างครบถ้วน เดินหน้าสำรวจและเสริมคันกั้นน้ำในจุดที่ไม่แข็งแรงก่อนน้ำหลาก พร้อมป้องกันน้ำไหลย้อนจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้าท่วมเมือง

03 Nov 2016
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมการแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วน ในส่วนคันกั้นน้ำที่ มทบ.15 ที่ทรุดตัว ซึ่งได้เร่งซ่อมแซมเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 พร้อมทั้งสำรวจ/เสริมคันกั้นน้ำในจุดที่ไม่แข็งแรง และอุดท่อระบายน้ำต่างๆ เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนจากแม่น้ำเพชรบุรีเข้าท่วมเมือง และให้เร่งผลักดันน้ำโดยเร็ว ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเข้าไปรวมเป็นจำนวน 8 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 โดยติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดเขาตะเครา และเดินหน้าผลักดันน้ำเต็มกำลัง โดยตัวผลักดันน้ำจะมีลักษณะเป็นใบพัดคล้ายใบพัดเรือ หมุนดันน้ำให้ไหลเร็วขึ้น ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทั้งนี้ จากการที่ทุกฝ่ายร่วมเตรียมการแก้ปัญหา โดยมีการระดมสรรพกำลัง ทำงานร่วมกัน ทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวไปได้มาก

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น และฝนที่ตกหนักในช่วงวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2559 ทำให้เขื่อนแม่ประจันต์ต้องระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น และน้ำไหลมาที่เขื่อนเพชรมากขึ้น ซึ่งเขื่อนเพชรเป็นเขื่อนทดน้ำ จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจาก 213 ลบ.ม./วินาที เป็น 228 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเพชรบุรีสูงขึ้น โดยที่คันกั้นน้ำที่มีอยู่ยังไม่มีส่วนใดชำรุดเพิ่ม หรือน้ำไหลข้าม ส่วนสาเหตุที่ทำให้น้ำในเมืองเพชรบุรี สูงขึ้นประมาณ 5 ซม. จากเมื่อวาน เนื่องจากคันกั้นน้ำบริเวณ มทบ.15 ที่ซ่อมเสร็จ มีรอยรั่วจากกระสอบทราย ทำให้มีน้ำซึมผ่าน ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งสูบน้ำอย่างเต็มที่ ซึ่งคาดว่าน้ำทะเลหนุนจะลดลง ทำให้น้ำในพื้นที่ อ.เมือง จะลดต่ำกว่าตลิ่งในคืนนี้

"ได้สั่งการให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ลงไปพบปะเกษตรกรที่ประสบปัญหา เพื่อบรรเทาทุกข์ ให้กำลังใจ และแนะนำช่วยเหลือ เพราะทุกข์ของพี่น้องประชาชนคือทุกข์ของเราเช่นกัน ในส่วนการรับมือน้ำท่วมนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศ แนวโน้มฝนที่ลงใต้ตามลำดับ พร้อมทั้งให้ตรวจคันกั้นน้ำให้มีความแข็งแรง ซึ่งจุดที่อ่อนต้องซ่อมให้เรียบร้อยก่อนน้ำมาในปีหน้าและปีต่อไป โดยช่วงก่อนฝนมาต้องทำเป็นปฏิทินประจำปี คือ สำรวจก่อนฤดูฝน และซ่อมให้เสร็จก่อนน้ำหลาก ส่วนการระบายน้ำหลากให้ระดมเครื่องมือเข้าช่วยเหลือเพื่อทำให้น้ำลดลงโดยเร็ว" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว