ช่วงเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวความรุนแรงในรัฐยะใข่ ประเทศเมียนมาก็ปรากฎขึ้นใหม่อีกครั้ง จากการโจมตีที่ตั้งของกองกำลังตำรวจชายแดนจนมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ที่นำไปสู่การปิดล้อมตรวจค้นชุมชนชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะในสองเมืองชายแดนทั้งมองดอว์ และราธีดอง ในรัฐยะใช่ ที่มีรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการยิงทิ้งชาวโรฮิงญาทั่วไป ยึดทรัพย์สินมีค่า เผาที่พักอาศัย รวมถึงการข่มขืนหญิงสาวของทหารกองทัพเมียนมา แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน (31 ตุลาคม 2559) องค์กรสิทธิมนุษยนชนจะคาดว่ามีชาวโรฮิงญาที่ถูกไล่ออกที่พักอาศัยของตนประมาณ 15,000 คน ซึ่งยังน้อยกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2555 ที่มีคนมากกว่า150,000 คน พลัดพรากจากที่พักอาศัยของตน แต่ก่อนที่ความรุนแรงในปีนี้จะขยายตัวและนำไปสู่การอพยพระลอกใหม่ ในปี 2559-2550 ที่จะส่งผลกระทบต่อไทยในอนาคต ในฐานะเพื่อนบ้านและเส้นทางการเดินทางอพยพของชาวโรอิงยา
การประชุมสภากลาโหมที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อวันที่ 31ตุลาคม "ที่ได้กำชับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมติดตามสถานการณ์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์การสู้รบและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสและกลุ่มหัวรุนแรงที่เคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่สู้รบทั้งอิรัก และซีเรีย ที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มไอเอสและกลุ่มหัวรุนแรงจะกระจายหลบหนีเข้าไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสถานการณ์ของชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ด้วย ที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อไปประเทศปลายทาง" ก็ละเลยความสำเร็จที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยในการแนวทางใหม่ในการจัดการปัญหาการหลบหนีเข้ามาของชาวโรฮิงญา ที่นอกเหนือจากการมอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงจัดการเท่านั้น
ความสำเร็จของไทยในการหยุดยั้งการหลบหนีเข้ามาของชาวโรฮิงญาหลังเหตุการณ์ในปี 2555 คือการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มุ่งปกป้องและคุ้มครองกลุ่มผู้อพยพที่มีความเสี่ยงแม้ว่าจะไม่ได้มีสัญชาติไทยก็ตาม โดยความร่วมมือหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์กรประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ มากกว่าการใช้แนวนโยบายและหน่วยงานความมั่นคง เช่น กอ.รมน. ที่ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนในตอนนั้นต่างก็ถูกจับและกำลังถูกพิจารณาคดีฐานมีผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์
ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะใข่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายคนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ก็ต่างมีความกังวลมากขึ้น กองกำลังของรัฐบาลเมียนมาได้เปลี่ยนจากสถานะของผู้ที่ถูกโจมตีในวันที่ 9 ตุลาคม กลายเป็นฝ่ายที่เปิดฉากการโจมตีตอบโต้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มติดอาวุธแต่รวมถึงชุมชนของชาวโรฮิงญา กลุ่มชาติพันธ์ที่รัฐบาลเมียนมาไม่เคยได้รับการยอมรับการเป็นพลเมืองของตน กลุ่มชาติพันท์ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังทหารเมียนมามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดเหตุการณ์ความรุนแรงทางศาสนาในปี 2555 และเหตุการณ์ในปัจจุบันที่กองทัพเมียนเปิดปฏิบัติกวาดล้างโดยเฉพาะในเขตเมืองชายแดน ทั้งมองดอว์ บูธิดอง และราธีดอง ที่ชาวโรฮิงญาเป็นคนกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่
หัวหน้าตำรวจเมียนมา พลตำรวจเอก ซอว์ วิน (Police Force Chief Maj-Gen Zaw Win) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม มีตำรวจเสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บ 5 คน จากการสำนักงานตำรวจ และจุดตรวจในเมืองมองดออว์ และราธีดอง เมื่อเช้าของวันที่ 9 ตุลาคม หัวหน้าตำรวจเมียนมาอ้างว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมิอของกลุ่ม Rohingya Solidarity Organization หรือ RSO กลุ่มติดอาวุธของชาวโรฮิงญาที่เคลื่อนไหวในบริเวณชายแดน ระหว่าง 1980 - 1990s แต่ก็ไม่ปรากฎการเคลื่อนไหวมากกว่า 20 ปี ต่อมามีการกล่าวอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการขนาดเล็กในท้องถิ่นที่ชื่อว่า Aqa Mul Mujahidin (AMM), Faith Movement of Arakan (FMA), Harakat al Yaqin และ Kebangkitan Mujahid Rohingya (KMR) ที่รัฐบาลเมียนมากล่าวอ้างว่าเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ RSO และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงในปากีสถาน
ภายหลังเหตุการณ์ หัวหน้าตำรวจในท้องถิ่นถูกปลด กองทัพก็ได้เคลื่อนกำลังเข้าในพื้นที่เมืองชายแดนของรัฐยะใข่ เริ่มใช้กำลังตรวจสอบโดยเฉพาะในชุมชน หมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 29 คน ถูกยิงเสียชีวิต 12 คนถูกจับ ขณะที่ Habib Siddiqui นักเคลื่อนไหวของชาวโรฮิงญาอ้างว่ามีชาวโรฮิงญา มากกว่า 50 คนถูกยิงเสียชีวิต กว่า 100 คน บาดเจ็บ และอีก 150 คนถูกจับอย่างทารุณ ขณะที่ชาวโรฮิงญาอีกกว่า 15,000 คน ถูกขับไล่ออกบ้านหรือหนีออกมาก่อนเพราะความหวาดกลัวการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ ชาวโรฮิงญาประมาณ 2,000 คน ถูกให้ออกจากหมู่บ้านก่อนที่ทหารจะตรวจค้น พวกเขาได้รับอนุญาติให้กลับเข้ามาเพื่อมาพบว่าทรัพย์สินสูญหาย และบ้านหลายหลังถูกเผา
ฟารุก (Farukh) อายุ 23 ปี จากหมู่บ้าน Kyee Kan Pyin ตอนเหนือของมองดอว์ เมืองชายแดนของรัฐยะใข่ ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวชน "ในวันที่ 23 ตุลาคม กองกำลังชายแดนได้เข้ามาในหมู่บ้านและก็ทำลายชุมชนของเขาไปหมด พวกเรารีบอออกจากบ้าน แล้วหนีไปหมู่บ้านใกล้ๆ เมืองมองดอว์ เราต้องแดินเท้ากันไป ผมไปพร้อมกับแม่ และน้องสาวอีก 3 คน รววมถึงหลานอีก 3 คน คนในหมู่บ้านทั้งหมดกว่า 2,000 คน ถูกไล่ออกจากบ้านหมด หลายวันต่อมาเราก็กลับเข้าไปก็เห้นบ้านประมาณ 40 หลังถูกเผา โดยทหาร ตำรวจ และคนยะใข่ พวกเราไม่เหลืออะไร ครอบครัวผมด้วย"
นักข่าวของรอยเตอร์สามารถติดต่อและสัมภาษณ์หญิงชาวโรฮิงญาอายุ 40 ปี จากหมู่บ้าน U Shey Kya ในมองดอว์ ได้ทางโทรศัพท์โดยบอกว่า ถูกข่มขืนโดยทหารพม่า 4 คน รวมถึงลูกสาววัย 15 นอกเหนือไปจากขโมยทรัพย์สินมีค่าของครอบครัวไปด้วย เช่นเดียวกับหญิงชาวโรฮิงญาอีก 5 คน ที่ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรอยเตอร์ โดยทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อทหารประมาณ 150 นาย เข้ามาในหมู่บ้าน U Shey Kya ในวันที่ 19 ตุลาคม ผู้ชายในหมู่บ้านหลบหนีออกไปก่อนเพราะกลัวจะถูกจับ จึงเหลือเพียงแต่ผู้หญิงในหมู่บ้านเพราะเชื่อว่าทหารจะเผาเฉพาะบ้านที่ไม่มีคนอยู่ หญิงชาวโรฮิงญาจึงเลือกที่จะอยู่บ้าน ไม่ได้หนีออกไปกับกลุ่มผู้ชาย
องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศได้รับรายงานที่ยืนยันการฆ่าชาวโรฮิงญาที่ไม่มีอาวุธโดยไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ชายสามคนในหมู่บ้าน Myothugyi เขตเมืองมองดอว์ ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหาร ชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านบอกกับว่า "ทหารเอาผู้ชายในหมู่บ้านไปสามคน และยิงทิ้ง ทหารไม่ได้จับกุมใคร แต่ตั้งใจมาฆ่าพวกเขา" แม้ว่าชาวโรฮิงญาในรัฐยะใข่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครั้งนี้ไม่มากเท่ากับกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางศาสนาในปี 2555 ที่ทำให้คนกว่า 150,000 ไร้ที่อยู่ และอีกหลายหมื่นคนต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้านเกิดเข้ามาในประเทศไทย
ในประเทศไทย รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงปัจจัยที่ทำให้การจัดการปัญหาผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาในปี 2558 ประสบความสำเร็จ และยังคงดำเนินการภายใต้แนวนโยบายที่ยังอยู่ภายในกรอบการใช้แนวคิดและหน่วยงานด้านความมั่นคง ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาที่เข้าข่ายการเป็นผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกันกับ อุยกูร์ และเกาหลีหนือ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดูแลระบบจัดการผู้ลี้ภัย และพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์เรื่องระบบการจัดการผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวนโยบายและหน่วยงานที่ทำให้การอพยพหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยของชาวโรฮิงญาเพิ่มมากขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 2555-2557
ความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่เกิดขึ้นในปี 2558 มาจากการทำงานอย่างหนักของหน่วยงานที่มีภารกิจในการปกป้องคุ้มครองกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ทั้งพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัว ในหลายจังหวัดภาคใต้ ทีมสหวิชาชีพที่ทำให้การคัดแยกกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ออกจากกลุ่มที่หลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และนำไปสู่การประสานงานกับองค์กรประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เป็นชาวบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญา กลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กลุ่มผู้หญิงและเด็ก รวมถึงกลุ่มที่เข้าข่ายการเป็นผู้ลี้ภัย
กลุ่มผู้อพยพชาวบังคลาเทศ ก็ถูกแยกออกไปเพื่อรอการตรวจสอบสอบจากสถานทูตบังคลาเทศ และหากยืนยันว่าเป็นชาวบังคลาเทศก็จะดำเนินการรับตัวกลับประเทศ ซึ่งก็จะเหลือกลุ่มผู้อยพยพชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลไทยก็ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินการหาประเทศที่สามเพื่อรับไปตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็มีแนวทางในการดูแลตามกฎหมายป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ แม้ว่าปัจจุบันไทยจะยังคงมีการควบคุมกักขังชาวโรฮิงญาอยู่แต่ก็มีจำนวนที่น้อยลงอย่างชัดเจน และมีกลไกการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
ฉะนั้นก่อนที่จะเกิดการอพยพหนีออกมาจากรัฐยะใข่อีกครั้งในปี 2559 หรือในปี 2560 รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายกดดันต่อรัฐบาลเมียนมาให้หยุดใช้ความรุนแรงไม่ว่ากับใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา เพื่อที่จะหยุดการผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญาให้ต้องหลบหนีออกจากรัฐยะใข่ บ้านเกิดของพวกเขา แต่หากรัฐบาลไทยจะคำนึงความต้องการของรัฐบาลเมียนมามากกว่าการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต การกำหนดแนวนโยบายที่เหมาะสมและต่อเนื่องจากความสำเร็จจากนโยบายในช่วงปี2558 ก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น
รัฐบาลไทยควรต้องทำให้กลไกการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในระดับอาเซียน และกลไกภายในประเทศ ที่ไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น ทั้งกลไกการทำงานระหว่างรัฐบาลกับองค์กกระหว่างประเทศ กลไกการทำงานในระดับพื้นที่ระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม รวมถึงกลไกการกำกับควบคุมการใช้อำนาจของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ที่จะไม่นำไปสู่การหาผลประโยชน์จากการอพยพหนีภัยความรุนแรงของชาวโรฮิงญา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน การบังคับส่งชาวโรฮิงญากลับไปหาความตายที่บ้านเกิดอีกครั้ง
ภัยต่อความมั่นคงของไทยในที่ผ่านมาคือการปล่อยให้หน่วยงานความมั่นคงใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ละเลยการการดำเนินตามกฏหมายที่มุ่งปกป้องคุ้มครองคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ผลักดันให้พวกเขาต้องหันไปหาขบวนการนอกกฏหมายและกลุ่มหัวรุนแรง รวมถึงการไม่ยอมรับการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ทำให้การแก้ไขปัญหา ทำให้ละเลยมิติที่จำเป็นอื่นๆ ไม่ได้นำไปสู่กระบวนการการแก้ไขปัญหาที่จะลดเงื่อนไขในการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาที่ใหญ่กว่าเดิม ดังที่เราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต
ความสำเร็จของไทยต่อปัญหาการหลบหนีเข้ามาทางทะเลของชาวโรฮิงญา คือการดำเนินการที่ควบคู่กันไประหว่างความมั่นคงของรัฐ และความมั่นคงของมนุษย์ ที่ไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าเป็นคนไทยเท่านั้น แต่รวมถึงไม่ใช่ไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเติบโตของกลุ่มขบวนการนอกกฎหมาย และกลุ่มที่นิยมความรุนแรงในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 081 4339125 อีเมล์ [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit