มธ. เปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค พร้อมชี้ไทยขาดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

02 Nov 2016
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ สภาพนักงานมหาวิทยาลัย มธ. จัดกิจกรรมการเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภคโดยในระยะแรกจะมีเครือข่ายชาวนาจากจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี และลพบุรี นำข้าวมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคเป็นจำนวนกว่า 2 ตัน ทั้งนี้ ภายในยังมีการนำเสนอมุมมองจากนักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ โดยแนะทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขสภาวะราคาข้าวตกต่ำรวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้และหลักการบริหารจัดการ โดย "ภาคเกษตรกร" ควรรวมตัวเป็นเครือข่ายหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสร้างโอกาสทางการแข่งขัน "ภาครัฐบาล" ควรเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งโรงสีข้าวภายในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการขจัดการเกิดปัญหาเกษตรกรถูกโรงสีข้าวกดราคา "ภาคการศึกษา" ควรเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมพัฒนาสินค้าของเกษตรกรและชาวนาไทย และ "ภาคประชาชน" ควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวโดยตรงจากชาวนาไทย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีเครือข่ายชาวนาร่วมงานจำนวนมาก
มธ. เปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค พร้อมชี้ไทยขาดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. เปิดเผยว่าสำหรับสถานการณ์ข้าวของชาวนาไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม – สิงหาคม 2559) พบว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตข้าวได้กว่า 6 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์) แต่ทั้งนี้ กลับพบว่าชาวนาไทยประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางผู้รับซื้อข้าว และโรงสีข้าวในพื้นที่ชุมชนที่มีจำนวนน้อยซึ่งยังผลให้ล่าสุด ชาวนาไทยสามารถขายข้าวสารได้ในราคาเพียง 5,000 บาทต่อตันทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาให้สามารถมีรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาคการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบท อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้ร่วมกับสภาพนักงานมหาวิทยาลัย มธ. จัดกิจกรรมการเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภคโดยในระยะแรกจะมีเครือข่ายชาวนาจากจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี และลพบุรี ขนข้าวมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคเป็นจำนวนกว่า 2,000 กิโลกรัม บริเวณพื้นที่ตลาดนัดวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ส.บอ.)

ทั้งนี้ ในอนาคต ทางวิทยาลัยฯ เตรียมส่งเสริมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยชาวนาในการพัฒนาและบริหารการตลาดออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ในหลักสูตรการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยฯ ได้สร้างศูนย์เรียนรู้ด้านอาหาร พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจ เข้ามาร่วมอบรมและเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำไบโอแก๊ส (Biogas) การปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ และการทำบ้านดิน เป็นต้น อันสอดรับกับปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยฯ ด้วยมุ่งปลูกฝังและบ่มเพาะบัณฑิตให้มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน และสังคม ตลอดจนมีจิตสาธารณะที่มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

ด้าน ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า สภาวะราคาข้าวตกต่ำเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำแทบทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพในองค์รวม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข รวมถึงปัจจุบันระบบการขายข้าวของไทย ไม่มีการรวบรวมข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของการผลิตข้าวอย่างแม่นยำ จึงทำให้กระทบต่อราคาการขาย ผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องรับซื้อราคาต่ำ เพื่อป้องกันการขาดทุนของตนเอง ทำให้ผลกระทบตกอยู่ที่ภาคการเกษตรที่ต้องแบกรับปัญหาเหล่านั้น ดังนั้น ภาครัฐควรจัดระบบอุปสงค์ และอุปทานของข้าว กำหนดจำนวนการปลูก จำนวนการขาย ประเภทการขาย โดยใช้การบูรณาการองค์ความรู้และหลักการบริหารจัดการ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ภาคเกษตรกร ชาวนาไทยในแต่ละชุมชนควรรวมตัวเป็นเครือข่ายหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ควบคู่ไปกับสร้างคุณค่าให้กับข้าวในแต่ละท้องถิ่นด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อยกระดับจากการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ผ่านการสร้างแบรนด์ (Branding) การสร้างเรื่องราวและความแตกต่างให้กับสินค้า การสร้างรูปลักษณ์หรือแพ็คเกจจิ้ง (Packaging) เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภค

2. ภาครัฐบาล หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งโรงสีข้าวที่มีประสิทธิภาพสูงภายในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการขจัดการเกิดปัญหาเกษตรกรถูกโรงสีข้าวกดราคา อีกทั้งควรให้การสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าข้าวให้ถึงมือผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยให้เกิดระบบการกระจายสินค้าผ่านการขนส่งโดยไปรษณีย์ไทยที่สามารถส่งตรงผู้บริโภคได้ถึงหน้าบ้านในราคาถูก ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดปัจจุบันของการส่งสินค้าของชาวนาไทยที่มีต้นทุนสูงในการกระจายสินค้าตรงถึงมือผู้บริโภค และช่วยลดการพึ่งพากลไกการกระจายสินค้าผ่านโรงสีและพ่อค้าคนกลาง

3. ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษา หรือบุคคลกรทางการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ทั้งในส่วนการพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพของข้าวการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแล้วยังมีด้านบริหารธุรกิจที่ควรได้รับการพัฒนา การบริหารจัดการ การตลาด การบริหารความเสี่ยง หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้สถาบันการศึกษาควรที่จะเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมพัฒนาสินค้าของชาวนาไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ข้าวจากชาวนาไทย อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยได้อย่างยั่งยืน

4. ภาคประชาชน ประชาชนไทยควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวโดยตรงจากชาวนาไทยโดยในปัจจุบันปริมาณข้าวสารร้อยละ 60 ของการผลิตทั้งหมดจะถูกบริโภคภายในประเทศ ซึ่งปริมาณการบริโภคข้าวภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง ถือว่าเป็นโอกาสที่ผู้บริโภคในประเทศจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวโดยตรงจากชาวนาไทย นอกเหนือจากนั้น ข้าวมูลค่าสูงอย่างข้าวหอมมะลิที่เป็นที่นิยมของตลาดในประเทศ ยังมีการบริโภคภายในประเทศสูงถึงประมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตข้าวหอมมะลิ ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมการกินข้าวของคนไทยที่เลือกจากความพึงพอใจในรสชาติและคุณภาพของสินค้า และเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มชาวนาไทยในการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวมูลค่าสูงที่มีคุณลักษณะและคุณประโยชน์อย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ สภาพนักงานมหาวิทยาลัย มธ. ได้จัดกิจกรรมนำเสนอมุมมองจากนักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ พร้อมเปิดพื้นที่นำร่องให้ชาวนาเครือข่ายขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภคขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีเครือข่ายชาวนาในพื้นที่ปทุมธานี สุพรรณบุรี และลพบุรี ร่วมงานจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์02-564-4440-59 ต่อ 1321 หรือคลิกเข้าไปที่ http://psds.tu.ac.th/

HTML::image( HTML::image( HTML::image(