นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอหรืออินซูลินมีฤทธิ์น้อยกว่าที่ควร ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายสาเหตุ ได้แก่ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะ การไม่ออกกำลังกาย หรือ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี สำหรับในปี 2559 นี้ ประเด็นการรณรงค์วันเบาหวานโลก คือ "Eyes on Diabetes" โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการคัดกรองโรคเบาหวาน และการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน การพบโรคเบาหวานในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาที่รวดเร็วจะลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งแต่ละโรคมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก และทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจำนวน 5 ล้านคน ในปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมของประเทศในปี 2556-2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15ปีขึ้นไปโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวาน เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 คิดเป็นจำนวนมากถึง 4.8 ล้านคน เทียบกับปี 2552 ซึ่งพบเพียงร้อยละ 6.9 หรือมีคนเป็นโรคเบาหวาน 3.3 ล้านคน
และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ.2551 พบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในการรักษาพยาบาลโรคเบาหวานเฉลี่ย 1,172 บาทต่อราย ส่วนผู้ป่วยในค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ย 10,217 บาทต่อราย รวมค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 3,984 ล้านบาทต่อปี หากคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3 ล้านคน/ปี มารับบริการที่สถานพยาบาล จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้นประมาณ 47,596 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้หนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่เกิดจากโรคเบาหวานคือ โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease – CKD) โดยพบความชุกของโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน สูงถึงร้อยละ 17.5 เมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ระยะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End Stage renal Disease – ESRD) ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านยาและ ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องใช้งบประมาณการล้างไตเป็นการเฉพาะ แยกจากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (Capitation) โดยในปีงบประมาณ 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาท และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งถ้ารวมงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิอื่นๆ ได้แก่ สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการแล้วรัฐจำเป็นต้องใช้งบสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จะสามารถลดลงได้หากสามารถป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีการใช้ยารักษาโรคเบาหวานที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายซึ่งจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานในอนาคตได้ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้มีการประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันก็จะสามารถช่วยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานและควบคุมโรคเบาหวานได้ ดังคำขวัญเพื่อการรณรงค์วันเบาหวานโลกของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "เบาหวาน...รู้จักเพื่อป้องกัน รู้ทันเพื่อควบคุม"
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit