นายนำชัย พรหมมีชัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาลวดลาย
ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์
ไหมไทย ระหว่าง
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสถาบันการศึกษา ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหม ดำเนินงานสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และสืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมให้เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทย โดยเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเพื่อให้มีความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพ ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมหม่อนไหม กับสถาบันการศึกษา ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาลวดลายผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยนั้น เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการทอผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และยังเป็นการขยายโอกาสการใช้ผ้าไหมไทยให้มีความหลากหลายร่วมสมัยได้มากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับวัตถุประสงค์ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฯ ในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าสืบสานและเผยแพร่ภูมิปัญญาสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และความชำนาญจากเจ้าของภูมิปัญญาส่งต่อให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่นำไปสู่การสร้างค่านิยมกับคนรุ่นใหม่สนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาด้านการทอผ้าหัตถกรรมให้เป็นต้นทุนในการต่อยอดพัฒนาลวดลายผ้า และกระบวนการผลิตเกิดเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ร่วมสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดสนับสนุนให้ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมด้านหม่อนไหมได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ทอผ้าและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งยกระดับบุคคลากรท้องถิ่นทุกช่วงวัย โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางภูมิปัญญา
ด้าน นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของกรมหม่อนไหม คือ การอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาเกี่ยวกับหม่อนไหม รวมทั้ง ส่งเสริม พัฒนาการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายและภารกิจดังกล่าว กรมหม่อนไหมจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาลวดลายผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในสาขาการออกแบบนำนักศึกษาลงพื้นที่เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรผู้ทอผ้าไหม ศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาหม่อนไหมวิถีชีวิต วัฒนธรรมของท้องถิ่นแต่ละชุมชนและนำมาเป็นแนวคิดในการร่วมกันพัฒนาลวดลายผ้าที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ อาทิ ลวดลายผ้าที่ได้แนวคิดจากต้นไม้ ดอกไม้ อาชีพ ที่มีอยู่ในชุมชน เป็นต้น ทำให้ได้สินค้าผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น มีลวดลายที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้ผ้าไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ความร่วมมือกันระหว่างกรมหม่อนไหม และสถาบันการศึกษาทั้ง 6 สถาบัน ในการดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างเกษตรกรและเยาวชนโดยเกษตรกรได้รับการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาการพัฒนาลวดลายผ้าจากการออกแบบเยาวชนช่วยสร้างโอกาสในการใช้ผ้าไหมในกลุ่มเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในขณะที่เยาวชนได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงจากเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้าของแต่ละท้องถิ่น ทำให้เกิดความภูมิใจเห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมกันสืบสานให้คงอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่ตนเองต่อไปในอนาคต