นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ต้องอาศัยการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล เนื่องจากการดำเนินงานกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่พบข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งในแง่ของการควบคุมการทำเหมืองให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต และควบคุมการลักลอบทำเหมืองโดยผิดกฎหมาย
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงได้มีการนำเทคโนโลยีการรังวัดสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV หรือ DRONE) มาใช้สนับสนุนในการตรวจสอบกำกับดูแลกิจการการทำเหมืองแร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ขจัดปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยาก หรือพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น บริเวณหน้าผาสูงชัน หรือในบ่อเหมืองที่มีการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเป็นข้อมูลแบบเป็นปัจจุบัน (Real time) สามารถช่วยในการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การปฏิบัติงานสำรวจรังวัดด้วยอากาศยานไร้คนขับจะประกอบด้วย การรังวัดภาคสนาม โดยผู้ปฏิบัติงานจะทำการลงพื้นที่เพื่อทำการวางเป้าในการกำหนดจุดพิกัดภาคพื้นดิน (Ground control point: GCP) แล้วจึงทำการบินเพื่อถ่ายภาพตามแนวบินที่กำหนด โดยอากาศยานไร้คนขับจะติดตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพในระยะความสูงประมาณ 50-300 เมตร และการประมวลผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จะถูกนำมาคำนวณความสูงและพิกัดของพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างแผนที่และแบบจำลองภูมิประเทศและการคำนวณปริมาตรพื้นดินที่ถูกขุดตักจากการทำเหมือง
อย่างไรก็ตาม กพร. มีการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ 2 ประเภท คือ อากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึง (Fixed wing) และอากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุน (Multi-rotor UAV) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทมีข้อแตกต่างของคุณลักษณะในการปฏิบัติงาน กล่าวคือ อากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึงจะสามารถปฏิบัติงานได้ยาวนานกว่า ซึ่งเป็นผลให้สามารถปฏิบัติงานได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าในแต่ละรอบการบิน ในขณะที่แบบปีกหมุนมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็นแนวดิ่งได้มากกว่า ดังนั้นการใช้งานอากาศยานไร้คนขับแต่ละประเภทต้องคำนึงถึงขนาดพื้นที่และสภาพภูมิประเทศที่ต้องการสำรวจรังวัดสำรวจ
ทั้งนี้ กพร.ได้นำร่องใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับดังกล่าวในพื้นที่เหมืองหินปูน จังหวัดสระบุรีเหมืองแร่ยิปซัม จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร เหมืองแร่แคลไซต์ จังหวัดลพบุรี และเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ประทานบัตรประมาณ 50 แปลง โดยเชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาช่วยในการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการการทำเหมืองแร่ จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจการกำกับดูแลด้านต่างๆ อาทิ กำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การใช้เป็นข้อมูลเพื่อการประเมินความถูกต้องในการชำระค่าภาคหลวง การตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบพื้นที่สถานประกอบการเพื่อป้องกันการทำเหมืองออกนอกเขต และการกำกับดูแลการออกแบบพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูเหมืองหลังเสร็จสิ้นการทำเหมือง ที่สำคัญเป็นการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในการกำกับดูแลได้ นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดได้ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรมถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0 2202 3555 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th