ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความรับรู้ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 ถึง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,189 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีทั้งด้านการทรงเครื่องดนตรี การพระราชนิพนธ์เนื้อเพลงและทำนอง รวมถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งผสกนิกรไทยโดยทั่วไปตลอดจนชาวต่างชาติ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงเริ่มเรียนดนตรี เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ จนทรงมีความเชี่ยวชาญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา
ในปี พ.ศ. 2489 โดยเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือเพลงแสงเทียน และเพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่ 2 คือเพลงใกล้รุ่ง แต่เพลงพระราชนิพนธ์ที่ประชาชนทั่วไปได้ฟังเป็นเพลงแรกคือเพลงสายฝนซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ 3 และได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน และตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง ด้วยแนวดนตรีที่มีความไพเราะ เนื้อหาของบทเพลงที่มีความร่วมสมัยและสอดแทรกคติเตือนใจรวมถึงสร้างกำลังใจให้กับผู้ฟัง จึงทำให้เพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่คุ้นหูของประชาชนในทุกวัยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดช สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.63 และเพศชายร้อยละ 49.37 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 27.42 ระบุว่าตนเองรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพลงสายฝนเป็นเพลงแรก รองลงมารู้จักเพลงชะตาชีวิตเป็นเพลงแรกคิดเป็นร้อยละ 20.02 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.38 รู้จักเพลงใกล้รุ่งเป็นเพลงแรก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.93 รู้จักเพลงยามเย็นเป็นเพลงแรก ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.17 รู้จักเพลงแสงเทียนเป็นเพลงแรก นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.47 ร้อยละ 4.37 ร้อยละ 3.78 และร้อยละ 2.61 รู้จักเพลงแสงเดือน พรปีใหม่ เราสู้ และความฝันอันสูงสุดเป็นเพลงแรกตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างที่เหลือรู้จักเพลงอื่นๆคิดเป็นร้อยละ 1.85
สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กลุ่มตัวอย่างชอบมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ สายฝนคิดเป็นร้อยละ 86.54 ชะตาชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.95 ใกล้รุ่งคิดเป็นร้อยละ 82.51 ยามเย็นคิดเป็นร้อยละ 80.15 และแสงเทียนคิดเป็นร้อยละ 76.87
ส่วนสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างได้รับจากการฟังเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากที่สุด 3 อันดับคือ ได้ความสุข/ความเพลิดเพลินคิดเป็นร้อยละ 84.52 ได้รู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์คิดเป็นร้อยละ 82.42 ได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีคิดเป็นร้อยละ 79.65
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.48 มีความคิดเห็นว่าหากสถานศึกษาจัดให้เด็กนักเรียนได้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นประจำทุกสัปดาห์จะมีส่วนช่วยให้เด็กเยาวชนรุ่นหลังให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.87 มีความคิดเห็นว่าเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีส่วนช่วยให้ผู้คนในชาติเกิดความรักสามัคคีกันได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 86.04 เห็นด้วยหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแถบบันทึกเสียงเพื่อแจกให้กับทุกครัวเรือนได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว