ความคิดเห็นคนอีสานกับปัญหาชาวนา

14 Nov 2016
วันนี้ (12 พ.ย. 59) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเห็นคนอีสานกับปัญหาชาวนา" พบ คนอีสานเกินครึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับการทำนา เชื่อว่าสาเหตุหลักที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำช่วงนี้เป็นเพราะรัฐไม่เตรียมมาตรการรองรับ โรงสีกดราคา การไม่สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวได้ตามเป้า และการเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกันจำนวนมาก สำหรับวิธีการช่วยเหลือชาวนาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ลดพื้นที่การปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม และส่งเสริมการรวมกลุ่มให้ชาวนาเข้มแข็ง สำหรับสาเหตุที่ข้าวเปลือกถูกแต่ข้าวสารแพง เป็นเพราะโรงสีกดราคาข้าวเปลือก และต้นทุนการขนส่งสูง เกินครึ่งต้องการซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ระหว่าง 10-20 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ต้องการซื้อที่ตลาดสดและพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยเหลือชาวนา ขณะที่ความคิดเห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์สมควรจ่ายค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น เสียงที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย และไม่แน่ใจยังก้ำกึ่ง

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับปัญหาชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยทำการสำรวจระหว่าง 5-8 พฤศจิกายน 2559 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,168 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

อีสานโพลได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าได้ทำนาหรือไม่อย่างไร พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 45.4 ทำนามาตลอด รองลงมา ร้อยละ 25.6 ไม่เคยทำหรือแทบจะไม่ได้ทำ ร้อยละ 16.4 ทำเป็นครั้งคราว และร้อยละ 12.6 เคยทำแต่เลิกทำแล้ว โดยรวมแล้วกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 61.9 ยังคงเกี่ยวข้องกับการทำนาทั้งที่ทำเป็นประจำและเป็นครั้งคราว

สำหรับสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำช่วงนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ25.1 เชื่อว่าเกิดจากการที่รัฐไม่เตรียมมาตรการรองรับ รองลงมาร้อยละ 17.2 พ่อค้าคนกลาง/โรงสีกดราคา ตามมาด้วย ร้อยละ 16.0 รัฐไม่สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวได้ตามเป้า ร้อยละ 14.7 มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกันจำนวนมาก ร้อยละ 10.3 เป็นไปตามราคาตลาดโลก ร้อยละ 7.0 รัฐระบายขายข้าวออกมาก่อนหน้านี้ ร้อยละ 4.0 ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ร้อยละ 4.2 นักการเมืองร่วมมือกับโรงสีเพื่อสร้างสถานการณ์ และสาเหตุอื่นๆ ร้อยละ 3.2

อีสานโพลได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงวิธีการช่วยเหลือครัวเรือนชาวนาอย่างยั่งยืนที่รัฐควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 31.7 ต้องการให้ส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน (ตามแนวพระราชดำริของในหลวง) รองลงมา ร้อยละ 23.1 ต้องการลดพื้นที่การปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 21.1 ต้องการให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้ชาวนาเข้มแข็ง ร้อยละ 9.2 ต้องการให้ส่งเสริมการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ร้อยละ 6.3 ต้องการให้เพิ่มมูลค่าเพิ่มของข้าวด้วยนวัตกรรมต่างๆ ร้อยละ 4.4 สร้างการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและบริการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ และร้อยละ 4.3 วิธีการอื่นๆ

ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกราคาถูกแต่ข้าวสารมีราคาแพง พบว่า ร้อยละ 31.3 เห็นว่าเป็นเพราะพ่อค้าคนกลาง/โรงสีกดราคาข้าวเปลือก รองลงมา ร้อยละ 25.7 เพราะต้นทุนการขนส่งสูง ร้อยละ 16.5 เพราะต้นทุนการแปรรูปและต้นทุนการขายสูง ร้อยละ 14.6 เพราะผู้ค้าข้าวสารบวกกำไรเยอะ ร้อยละ 9.7 เพราะชาวนาไม่รวมกลุ่มขายข้าวสารเอง และสาเหตุอื่นๆ ร้อยละ 2.3

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าต้องการซื้อข้าวสารจากชาวนาโดยตรงเพื่อบริโภคหรือไม่อย่างไร พบร้อยละ 62.0 ต้องการช่วยซื้อ โดยส่วนใหญ่ต้องการซื้อในปริมาณ 10-20 กิโลกรัม สำหรับช่องทางในการซื้อข้าวสารโดยตรง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 34.4 ต้องการซื้อที่ตลาดสด รองลงมาร้อยละ 34.2 พื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยเหลือชาวนา ร้อยละ 13.5 ปั้มน้ำมัน ร้อยละ 4.2 ริมทางถนน ร้อยละ 3.0 สั่งของทางออนไลน์/อินเตอร์เน็ต และร้อยละ 10.6 อื่นๆ

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้คะแนนประเมินการเตรียมการและการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำของรัฐบาลปัจจุบัน พบ ร้อยละ 35.0 ระบุอยู่ที่ระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 28.3 ระดับดี ร้อยละ 22.9 ระดับแย่ ร้อยละ 12.4 ระดับแย่มาก/ล้มเหลว และระดับดีมาก เพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น

สำหรับความคิดเห็นกับการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.2 เห็นว่าไม่สมควรจ่ายค่าเสียหาย รองลงมา ร้อยละ 31.8 เห็นสมควรจ่ายค่าเสียหาย และร้อยละ 30.9 เฉยๆ/ไม่แน่ใจ