อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนของการให้บริการ พบปัญหาสุขภาพจิตไม่มาก ประมาณ ร้อยละ 2 ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะ โรคจิตเภท ซึ่งมีอาการกำเริบจากการขาดยา ดังนั้น หากป่วยทางจิตเวช ต้องรับประทานยาให้ต่อเนื่อง และควรนำยาติดตัวมาด้วย ขณะที่ ประมาณ ร้อยละ 1 มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบมากในกลุ่มโรคซึมเศร้าร่วมกับปัญหาความเครียดส่วนตัวที่สะสมมานาน เช่น ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ซึ่งทั้งหมดได้รับการปฐมพยาบาลทางใจและส่งต่อเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนที่เหลือจะเป็นปฏิกิริยาปกติโดยทั่วไปของความเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้ ฟูมฟาย จากการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก และความเครียดสะสมที่มาจากปัญหาส่วนตัว/การงาน/โรคเรื้อรังทางกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สภาพจิตใจคนไทยดีขึ้น เนื่องจากสามารถปรับตัวได้ตามกลไกทางจิตวิทยา เมื่อพ้นช่วง 2 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน ตลอดจนสื่อมวลชนและพี่น้องคนไทยได้รวมพลังแปลงความโศกเศร้าเป็นพลังทำความดี สืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดกำลังใจและมีความเข้มแข็งทางจิตใจได้เร็วขึ้น
นอกจากการให้บริการ ณ หน่วยบริการปฐมพยาบาลทางใจแล้ว ยังจัดให้มีบริการรถโมบายปฐมพยาบาลทางใจ คลายเครียดให้กับประชาชน ที่เปรียบเหมือน รพ.ทางใจขนาดเล็กเคลื่อนที่ ภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องไบโอฟีดแบ็ค (biofeedback) วัดความแปรปรวนการเต้นของหัวใจ แสดงออกเป็นกราฟข้อมูล โดยจะมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้วิเคราะห์ แปรผล ให้คำแนะนำปรึกษา ตลอดจนให้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและสายตาด้วยเก้าอี้นวดคลายเครียด พร้อมรับชมภาพและฟังเสียงเพลงบรรเลงสร้างความผ่อนคลายได้แบบครบวงจร แต่หากยังมีความเครียดและวิตกกังวลอยู่มากอาจให้ทานยาและส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตลอด 10 วันนับจากวันแรกที่ให้บริการ มีผู้ขอรับบริการ เฉลี่ยวันละ 20 ราย จากการประเมินด้วยเครื่องไบโอฟีดแบ็ค พบผู้รับบริการมากกว่า 2 ใน 3 มีความเครียดอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ผู้ที่มีความเครียดสูงจะได้รับการส่งต่อดูแลช่วยเหลือตามระบบ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้เดินทางมายังบริเวณท้องสนามหลวง หากมีความเครียด วิตกกังวล หรือทุกข์ใจ สามารถขอรับบริการได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit