น.ส.ฐิติมาพร หนูเนียม ประธานโปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะฯ จัดแข่งขันทำแกงส้ม อาหารประจำพื้นบ้านภาคใต้ และขนมดอกจอกข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมดอกจอกจากแป้งข้าวสังข์หยด วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูขนมไทยให้เป็นที่รู้จัก โดยนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเพิ่มคุณค่า ตอบสนองความต้องของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พัทลุง ที่มีการปลูกและเป็นที่นิยมในท้องถิ่นมายาวนาน ทั้งยังเป็นข้าวนาสวนที่มีคุณภาพ ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น วิตามินบี 6 เบต้าแคโรทีน ลูทีน ธาตุเหล็ก มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคเหน็บชา และมีเส้นใยอาหารสูง ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาศึกษาวิจัย
ประธานโปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ขนมดอกจอกเป็นขนมพื้นบ้านของไทย ที่ไม่สามารถหารับประทานได้ง่ายนัก ได้จากการนำแป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง และแป้งอื่นๆ มาผสมกับน้ำปูนใส ไข่ น้ำตาลทราย เกลือป่น ผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงใช้พิมพ์ดอกจอกที่ทำให้ร้อนในน้ำมัน จุ่มลงในส่วนผสม นำไปทอดในน้ำมันจนกรอบ ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดงานวิจัยผลิตภัณฑ์ขนมดอกจอกจากแป้งข้าวสังข์หยด ด้วยการพัฒนาเนื้อสัมผัสของขนม จากเดิมที่เนื้อขนมมีความกรอบกระด้าง ผู้วิจัยแก้ไขโดยใช้การโม่แป้งด้วยกรรมวิธีอื่นๆ เช่น โม่เปียก โม่ผสม ส่วนเรื่องรสชาติจะมีการพัฒนาโดยนำสีจากผักผลไม้ในธรรมชาติ มาผสมกับแป้งข้าวสังข์หยด เช่น ใบเตย ฟักทอง อัญชัน แก้วมังกร เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสืบทอดขนมพื้นบ้านของไทยให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพด้วย