จุฬาฯ ร่วมมือเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็น“สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย

10 Nov 2016
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน แถลงข่าว : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย (ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย) เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จุฬาฯ ร่วมมือเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็น“สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ประกาศความสำเร็จร่วมกัน ในการเป็น"สถาบันพันธมิตร" ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย (ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย) "โครงการบริการทางการแพทย์ขั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย" โดยโครงการนี้จะเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เป็นกรณีพิเศษ ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็ง ลดอัตราการเสี่ยงเสียชีวิตของประชาชน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นับจากก้าวแรกในการลงนามสัญญาความร่วมมือในฐานะสถาบันพันธมิตร (Sister Institution) กับ MD Anderson Cancer Center มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์แพทย์และบุคลากรต่าง ๆ ในด้านการค้นคว้า วิจัยและข้อมูลวิชาการเพื่อพัฒนางานด้านป้องกันและรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการจัดประชุมวิชาการร่วมกัน ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือที่กล่าวมานี้มิได้จำกัดอยู่เพียงคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาอื่น ๆ ในประเทศไทยได้เข้าร่วมมีส่วนในการพัฒนาด้านวิชาการ และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ดีขึ้นในระดับสากล

ในปีนี้การดำเนินความร่วมมือดังกล่าวได้พัฒนามาสู่การร่วมกัน จัดประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยา "2nd Joint Cancer Conference : Advance in Colorectal Cancer ระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2559 โดยวันที่ 7 พฤศจิกายน เป็นการประชุมในเรื่อง Advance in Colorectal Cancer ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมวิทยาการที่ก้าวหน้าในด้านการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก MD Anderson Cancer Center ร่วมกับคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศกว่า 300 คน วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในเรื่อง Video Endoscopy Challenge in Gastrointestinal Malignancies ซึ่งเน้นวิทยาการความก้าวหน้าในการส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหารในวันที่ 9 พฤศจิกายน คณะผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ ได้นำคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก MD Anderson Cancer Center เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันเครือข่ายในด้านระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคมะเร็ง ที่ โรงพยาบาลสมเด็จบรมราชเทวี ณ ศรีราชาและโรงพยาบาลชลบุรี และวันนี้ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินงาน โครงการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงเพื่อผู้ด้อยโอกาสเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย 60 ปี โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ให้กับประชาชน จำนวน 284 ราย โดยไม่เสียค่าจ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือในฐานะสถาบันพันธมิตร (Sister Institution) ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MD Anderson Cancer Center ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และMD Anderson Cancer Center ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลัก ในการสร้างประวัติศาสตร์ในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง

ด้าน รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เมื่อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการคัดเลือกเป็นสถาบันแห่งแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เข้าร่วมเป็น "สถาบันพันธมิตร" กับ สถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ( MD Anderson Cancer Center) สถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งอันดับ 1 ของโลกจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Global Academic Program (GAP 2016) ซึ่งมีสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน จากสถาบันพันธมิตร 30 กว่าประเทศทั่วโลก ที่ประเทศบราซิล เมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา และล่าสุดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคนิคใหม่ทางการแพทย์ในต่างแดน นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการจัดประชุมวิชาการเรื่องมะเร็งถุงน้ำดีในตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวันที่ 17-18 มีนาคม 2560 ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์, 2. ด้านงานวิจัย ด้วยการร่วมทุนงานวิจัยมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งถุงน้ำดีในตับ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงที่สุดในโลก และโครงการวิจัยยา ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงยาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้งเคมีบำบัดและยาปรับภูมิคุ้มกัน และ 3. ด้านการรักษา ได้มีการพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ทันสมัย อาทิ เทคนิคการผ่าตัดเล็กด้วยหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีฉายแสงที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

ด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจหาและตัดติ่งเนื้อได้ในทันที ซึ่งเป็นการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ด้วยเหตุนี้สถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน จึงเล็งเห็นศักยภาพของโรงพยาบาล ที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ และได้จัดดำเนินการฝึกอบรมร่วมเพิ่มเติมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมพัฒนาการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยด้านโรคมะเร็งให้มีความน่าสนใจเพิ่มพูนมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานของแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ศูนย์การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ฝ่ายอายุรศาสตร์ฯ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (EC) ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร แบ่งเป็น 7 ส่วน คือ

1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหารอยโรค สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยได้ และยังช่วยในการรักษาหยุดเลือดออก การตัดชิ้นเนื้องอกระยะแรก เป็นต้น

2.การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กรณีพบสิ่งผิดปกติ จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจพยาธิวิทยา รวมทั้งสามารถตัดชิ้นเนื้องอกในระยะแรกได้เกือบหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัด

3.การส่องกล้องทางเดินน้ำดี และตับอ่อน (Endoscopic Retrograde CholangioPancreatography : ERCP) เป็นการส่องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อนมีไฟส่วนปลายร่วมกับการถ่ายภาพรังสี ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและรักษาภาวะที่เรียกว่า ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน

4. การส่องกล้องอัลตราซาวน์ (Endoscopic Ultrasonography : EUS) เป็นการส่องตรวจและรักษาท่อทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี รอยโรคในตับอ่อน เช่น ก้อนในตับอ่อน ถุงน้ำตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบ และรอยโรคใต้ชั้นผิวในระบบทางเดินอาหาร โดยการใช้กล้องคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ระบบคลื่นเสียงความถี่สูงในการดูรอยโรค ทำหัตถการตามข้อบ่งชี้หรือความผิดปกติที่พบ เช่น การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ การใส่สายระบายทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน

5.การส่องกล้องลำไส้เล็กด้วยกล้องลูกโป่งคู่ (Double Balloon Endoscopy : DBE) เป็นการตรวจลำไส้เล็กด้วยการสอดกล้องเข้าทางปาก และ/หรือ ทางทวารหนัก เพื่อวินิจฉัยโรคของลำไส้เล็ก ในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก ลำไส้อักเสบ หรือเนื้องอกของลำไส้เล็ก เป็นต้น

6. การตรวจตับด้วยไฟโบรแสกน เป็นการตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรแสกนเพื่อวัดปริมาณไขมันและพังผืดในตับ

และ 7. การตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดระดับกรดในหลอดอาหาร

นอกจากนี้ยังมีหัตถการพิเศษอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น POEM, ESD, LASOR ฯลฯ เป็นต้น โดยมีการให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมถึงให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารฉับพลัน (Emergency GI bleeding) ด้วยการส่องกล้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ได้เปิดห้องตรวจการส่องกล้องที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จำนวน 9 ห้อง ห้องตรวจตับ 1 ห้อง ห้องตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร 1 ห้อง มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจวันละประมาณ 40-50 รายต่อวัน และเพื่อให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในการบริการผู้ป่วย ด้านการทำวิจัยและวิชาการ ได้มีการวางแนวทางสำหรับโครงการพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องการส่องกล้องทางเดินอาหาร และการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษในการส่องกล้องด้วย

"ไม่เพียงแค่แนวทางใหม่ ๆในการรักษาเท่านั้น เพราะพันธกิจที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือระหว่างสถาบันมะเร็ง เอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ( MD Anderson Cancer Center) นั้น คือการปฎิบัติงานเชิงรุกด้วยการป้องกันโรค จึงเป็นที่มาของโครงการตรวจคัดกรองมะเร็ง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต แม้ "มะเร็ง" จะเป็นโรคร้ายแรงซึ่งมีความซับซ้อนในขั้นตอนของการรักษา แต่ด้วยความร่วมมืออันดีที่เกิดขึ้นกับสถาบันระดับโลก จึงมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบอกลาจากโรคร้าย เพื่อกลับคืนสู่ครอบครัว สังคม และชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง"

จุฬาฯ ร่วมมือเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็น“สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย จุฬาฯ ร่วมมือเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็น“สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย จุฬาฯ ร่วมมือเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน เป็น“สถาบันพันธมิตร” ร่วมจัดกิจกรรม เปิดคัดกรองมะเร็งลำไส้ 284 ราย