ผลิ:หน่อต้นกำเนิดหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์

11 Nov 2016
The origins of creative crafts
ผลิ:หน่อต้นกำเนิดหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์

ผลิ:หน่อต้นกำเนิดหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์

กำเนิดจาก Pacific Rim 11 สู่ผลงาน

"การพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์" ของ 12 นักศึกษาไทย

โครงการ Pacific Rim เป็นโครงการวิจัยที่ร่วมมือกันระหว่าง ArtCenter College of Design ประเทศสหรัฐอเมริกา กับ Tama Art University ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหลักสูตรหนึ่งที่นักศึกษาทั้งสองสถาบันจะทำโครงการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยโครงการ Pacific Rim ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ปีนี้จึงเป็นโครงการ Pacific Rim 11 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีส่วนร่วม โดยเน้นการดำเนินการตามนโยบาย "อุตสาหกรรม 4.0"ของรัฐบาล และมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ) ดำเนินโครงการPacific Rim โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา (Lanna Culture & Crafts Association:LCCA)ร่วมดำเนินการ ทั้งนี้นักศึกษาไทย 12 คน ที่ได้ร่วมในโครงการ Pacific Rim 11 ภายใต้กิจกรรม "การพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา"

จะต้องนำข้อมูลและการวิจัยขั้นต้น เพื่อนำมาหาต้นทางและจุดกำเนิดของความคิด และนำเสนอผลงานครั้งสุดท้าย ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่จะได้เดินทางไปทัศนศึกษา และดูการนำเสนอผลงานครั้งสุดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 จำนวน 5 คน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เป็นประธานกรรมการตัดสิน พร้อมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน นักศึกษา 12 คนที่ผ่านเข้าสู่การประกวดรอบสุดท้ายต่างแสดงความสามารถในการสร้างแนวคิด การถ่ายทอดผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งการพรีเซนต์ผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสิน ผลงานทั้งหมดมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป หลังรับฟังการพรีเซนต์ สัมผัสกับผลงานของนักศึกษาทุกผลงาน การตอบข้อสักถามของนักศึกษาต่อคณะกรรมการทุกคน ภายหลังการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ของคณะกรรมการ นักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือนายณรงค์ยศ ทีจันทร์มาตย์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยผลงาน Incompleteness หรือความไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ผลงานของนักศึกษา 12 คนที่เข้าสู่การประกวดรอบสุดท้ายจะถูกจัดแสดง ณ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

กำเนิดจาก Pacific Rim 11 สู่ผลงานออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์ของ 12 นักศึกษาไทย

ArtCenter College of Design ก่อตั้งขึ้นในปี 1930 โดยเริ่มก่อตั้งเป็น Art Center School มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน ต่อมาได้รับการยอมรับ และขยายระดับการศึกษาเป็นระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านศิลปะในปี 1949 และเปลี่ยนชื่อเป็น ArtCenter College of Design ในปี 1965 โดย U.S. News and World Report ได้จัดอันดับให้ ArtCenter College of Design เป็นสถาบันที่ติดอันดับการเรียนการสอนด้าน Industrial Design and Media Design ชั้นนำ 1 ใน 20 ของสหรัฐอเมริกาสำหรับ Tama Art University ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี 1935 ต่อมาในปี 1953 จึงขยายการศึกษาเป็นหลักสูตรปริญญาตรี มหาวิทยาลัยได้จัดการเรียนการสอนด้านศิลปะแบบครบวงจร อาทิเช่น ภาควิชาจิตรกรรม ภาควิชาประติมากรรม ภาควิชาเซรามิก, แก้วและโลหะกิจ ภาควิชาออกแบบกราฟฟิค ภาควิชาผลิตภัณฑ์และการออกแบบสิ่งทอ ภาควิชาออกแบบสิ่งแวดล้อม ภาควิชาออกแบบแบบบูรณาการ ศิลปะการแสดง และดนตรี ฯลฯ

โครงการ Pacific Rim เป็นโครงการความร่วมมือที่สถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่ง จัดทำโครงการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2006 โดยนักศึกษาของทั้ง 2 สถาบันจะดำเนินโครงการที่ได้รับคัดเลือกร่วมกัน ซึ่งแต่ละปีจะมีประเด็นแตกต่างกันไป โดยเน้นประเด็นการศึกษาในระดับโลก เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ โครงการแต่ละโครงการจะตั้งอยู่บนพื้นฐานการวิจัยร่วมกัน มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 14 สัปดาห์ ผลของโครงการที่ศึกษาวิจัยจะนำมาจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่สู่สาธารณชน สำหรับในปี 2016 จึงเป็นโครงการ Pacific Rim 11 ซึ่งความพิเศษของโครงการในครั้งนี้ เกิดเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคี จากแนวคิดของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นการดำเนินการตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาล และมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ) ดำเนินโครงการ Pacific Rim11 โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนาร่วมดำเนินการ

และในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการกิจกรรมพัฒนานักออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา (Fashion Smart Start Up 2016 หรือ F2S : Creative Designers Creation) ในโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach) ณ โรงแรมเก๊าไม้ล้านนา สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดเผยถึงการดำเนินโครงการนี้ว่า.....เพื่อให้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลเกิดผลที่เป็นรูปธรรม สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-Based Economyหรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สามารถเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ ให้เป็นสินค้านวัตกรรม สามารถนำเทคโนโลยีมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม โดยใช้กลยุทธ์ด้านการออกแบบอุตสาหกรรมขยายผลสู่การปฏิบัติผ่านหน่วยงานเครือข่ายด้านการออกแบบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ด้วยการยกระดับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการออกแบบและพัฒนาสินค้าในเชิงนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ และเชิงวัฒนธรรม เพื่อเตรียมเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม จากการรับจ้างผลิต สู่การออกแบบ ตามนโยบาย Thailand Industrial Design Center

โครงการ Pacific Rim11 จึงเป็นการผนึกกำลังการศึกษาด้านการออกแบบระหว่าง 3 ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและไทย ซึ่งไทยได้คัดเลือกนักศึกษา 12 คนที่มีศักยภาพสูงและผ่านการอบรมภายใต้กิจกรรมพัฒนานักออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา โดยเรียนร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาจาก Tama Art University และ ArtCenter College of Design รวม 32 คน โดยเลือกใช้พื้นที่ศึกษาวิจัยในภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา ระหว่างวันที่ 5 – 18 กันยายน 2559 ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับอาจารย์และนักศึกษาจากต่างประเทศแบบเข้มข้น พร้อมมีเป้าหมายในการนำวิถีชีวิตหรือทุนวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนหรือ SMEs เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 30 ชิ้น ที่มีความทันสมัยแต่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (Future Crafts) ให้สามารถออกสู่ตลาดโลกได้ หลังจากนั้นโครงการจะดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาไทยจากแนวคิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าวจำนวน 5 คนเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2559 อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าพื้นที่ภาคเหนือถือเป็นเมืองหัตถกรรมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ดังนั้นการเลือกใช้พื้นที่ภาคเหนือเพื่อการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้เตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประกวดสะท้อนมุมคิดของคณะกรรมการ

กิจกรรม"การพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา" เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานานกิจกรรมหนึ่ง นับตังแต่การถูกคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาของนักศึกษาเอง เพื่อสร้างผลงานสู่การประกวดในรอบคัดกรองจากทั่วประเทศ จากนั้นนักศึกษาทั้ง 12 คนที่ได้รับการคัดเลือกจะลงพื้นที่ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์กับนักศึกษาจาก Tama Art University และ ArtCenter College of Design เป็นเวลา 2 สัปดาห์ การเก็บคะแนนสำหรับนักศึกษาจะเริ่มจากการลงพื้นที่ในครั้งนั้นด้วย แม้ว่าคะแนนในการลงพื้นที่จะมีผลเพียงเล็กน้อย แต่หลักสำคัญของการลงพื้นที่ คือต้องการให้นักศึกษาได้สัมผัสกับสถานการณ์จริง สัมผัสกับปัญหาที่ชาวบ้าน ณ แหล่งพื้นที่ประสบ จึงสามารถวิเคราะห์เชิงลึก นำมากลั่นเป็นแนวคิด เพื่อสร้างผลงาน ซึ่งในท้ายที่สุดนักศึกษาจะเป็นผู้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า กว่าจะสร้างผลงานที่ตอบโจทย์และสามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงให้กับชาวบ้านได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อต้องนำผลงานที่ได้ไปผลิตเพื่อจำหน่าย นักศึกษาจะต้องพบอุปสรรคอีกมากมาย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประธานกรรมการตัดสิน ในฐานะบรมครูของวงการจิตรกรรม ทั้งชีวิตผ่านบทบาทมาแล้วมากมาย ทั้งความเป็นนักศึกษา อาจารย์ ศิลปิน ที่ปรึกษา และคณะกรรมการกล่าวว่า เป็นการตัดสินที่น่าสนใจอีกงานหนึ่ง เพราะเห็นความตั้งใจของนักศึกษาที่พยายามตอบโจทย์ .....ในฐานะนักพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์.....ซึ่งก็ต้องขอชมนักศึกษาทั้ง 12 คน ที่พยายามหยิบยกประเด็นที่คาดว่าจะสะท้อนปัญหาของชาวบ้านในพื้นถิ่นได้อย่างดีที่สุด สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและอีก 4 รางวัลที่ได้รับเลือก ที่จะถูกนำผลงานไปแสดงใน Pacific Rim 11 ที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและการแก้ไขแบบครบองค์ คือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งทั้ง 3 ฐานนี้ต้องสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง แต่งานนี้จะแตกต่างจากงานศิลปะเช่นการวาดภาพ เพราะเป็นงานที่ต้องสามารถนำไปต่อยอดด้านการผลิตที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม จึงเป็นงานเชิงสร้างสรรค์แบบโจทย์ซ้อนโจทย์ สำหรับประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับจากการเข้าร่วมงานในวันนี้ จะทำให้นักศึกษา สามารถวิเคราะห์ปัญหา เห็นวิธีการและขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งผลที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษาเอง จากการสัมภาษณ์นักศึกษาก็จะพบว่า หลายคนไม่สามารถนำแนวคิดเดิมหรือความต้องการที่แท้จริงมาพัฒนาเป็นผลงานได้ บางคนพัฒนาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นผลงานที่เข้าสู่การตัดสินในวันนี้ จึงเป็นผลงานแห่งการเรียนรู้และปรับปรุงมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับการนำผลงานไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาจะต้องเตรียมตัวและพัฒนาในหลายด้าน เช่น พัฒนาด้านการพรีเซนต์ของนักศึกษาเอง ภาษาอังกฤษ การตอบคำถาม ออกแบบการโชว์ผลงานให้มีความน่าสนใจ ทันสมัย เข้าใจง่าย ฯลฯ เนื่องจากงาน Pacific Rim 11 เป็นงานหนึ่งของนักศึกษาที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยทีมงานผู้จัดการประกวดจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่นักศึกษาทั้ง 5 คน เพื่อให้พร้อมเต็มที่ในการเข้าร่วมงานในเดือนธันวาคมนี้ความร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานทรงคุณค่า

กิจกรรม "การพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา" เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจาก..กระทรวงอุตสาหกรรม…โดยเน้นการดำเนินการตามนโยบาย "อุตสาหกรรม 4.0" ของรัฐบาล และมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ) โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา ร่วมดำเนินการ แต่ความสำเร็จนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมกันเป็นคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประธานกรรมการตัดสิน ดร.ธนภน วัฒนกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการ นางวันเพ็ญ รัตนกังวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัฒนพันธุ์ ครุฑะเสน มหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการ และนายปณิธาน ประมูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กรรมการและเลขานุการ

สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศที่ตอบรับและการส่งผลงานของนักศึกษาเข้าร่วมประกวด จนผู้จัดงานสามารถคัดกรองนักศึกษา 12 คน เพื่อลงพื้นที่และสร้างสรรค์ผลงาน บริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เป็นบริษัทหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ สายการบินแอร์เอเชีย ผลิตภัณฑ์มาม่า โรงแรมเก๊าไม้ล้านนา และลานใบไม้ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ซึ่งมอบพื้นที่สำหรับการจัดงาน..ผลิ:หน่อต้นกำเนิดหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์...และการตัดสินการประกวดกิจกรรม "การพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษา" การอำนวยความสะดวกและการเลี้ยงรับรองแก่คณะกรรมการ คณะทำงานและผู้เข้าประกวด ท้ายสุดคือความร่วมมือ จาก Tama Art University และ ArtCenter College of Design จนเกิดเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคี สนับสนุนองค์ความรู้ในระหว่างการลงพื้นที่ และสนับสนุนพื้นที่ให้นักศึกษาทั้ง 5 คน แสดงผลงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น

ลานใบไม้ ยิบอินซอย....ร่วมถ่ายทอดคุณค่าหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์สู่สังคม

คุณแววรัตน์ ชำนาญภักดี ผู้อำนวยการสายงานบุคคลและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยิบอินซอย จำกัดและบริษัทในเครือ กล่าวถึงการจัดงาน..ผลิ:หน่อต้นกำเนิดหัตถศิลป์เชิงสร้างสรรค์...ว่า รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้มากมาย เพราะคำว่าสร้างสรรค์ มีความหมายถึงความไม่สิ้นสุด ไม่จำกัดรูปแบบหรือองค์ประกอบของที่มา ไม่มีการกำหนดคุณวุฒิของผู้สร้าง มีแต่ผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่สุดประมาณ โดยการจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2559 ยิบอินซอยสนับสนุนการใช้พื้นที่การจัดแสดงผลงานของนักศึกษาทั้ง 12 ราย

ลานใบไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรม โดยมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ แต่เป็นกิจกรรมที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับงานศิลป์เชิงสร้างสรรค์ทั้งสิ้น สำหรับวันที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันตัดสินผลงานจากโครงการการพัฒนาออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์ ภายหลังเสร็จสิ้นการตัดสินและประกาศรางวัล ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษเรื่อง สิ่งที่เป็น สิ่งที่ทำ สิ่งที่ก่อให้เกิด ลานใบไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมเป็นพื้นที่ของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ที่เปิดพื้นที่สร้างความสุข และเป็นศูนย์กลางแห่งการพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้พัฒนาศักยภาพความสามารถ ของพนักงานในองค์กร กลุ่มคนในสังคมเมืองและกลุ่มคนในท้องถิ่น (ศิลปิน นักออกแบบ กลุ่มเครือข่ายกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เกษตรกรและผู้สูงวัยจากทั่วทุกภูมิภาค มาร่วมแสดงความสามารถ นำเสนอ ผลงาน โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่จากทั่วทุกภูมิภาค มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ เป็นการส่งเสริมอาชีพสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เกิดความภาคภูมิใจ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนโดยแท้จริง ที่ผ่านมา ลานใบไม้ ยิบอินซอย ได้มีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนในกิจกรรมมากมาย สำหรับผู้ที่สนใจในกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมรูปแบบต่าง ๆ สามารถติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่จะเกิดขึ้น ณ ลานใบไม้ ในโอกาสต่อไป ได้ที่ https://www.facebook.com/larnbaimai

ผลงานออกแบบแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์ของ 5 นักศึกษาไทยผู้ผ่านการตัดสินในรอบสุดท้าย

รางวัลที่ 1

ชื่อผลงาน Incompleteness

ผู้ออกแบบ นายณรงค์ยศ ทีจันทร์มาตย์ อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4

ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แนวคิด ความไม่สมบูรณ์ ที่กลับกลายเป็นความสมบูรณ์จนสามารถนำมาเป็นผลงานที่ส่งเข้าประกวด

ซึ่งเป็นผลจากการลงพื้นที่ที่บ้านกิวแลน้อย บ้านแกะสลักไม้ และบ้านเหมืองกุ้ง เพื่อศึกษางาน เทคนิคการผลิตชิ้นงาน

สิ่งที่พบล้วนแล้วแต่เป็นความไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้น

วัสดุ ผ้าฝ้าย ที่มีลักษระการทอ หลากหลายเนื้อผ้า หลากหลายพื้นผิว

ผลงาน ชุดเดรส 1 ชุด แจ็คเก็ต 1ตัว รองเท้า 3 คู่ กระเป๋า 1 ใบ และหมวก 1 ใบ

รางวัลที่ 2

ชื่อผลงาน IMPRESSION

ผู้ออกแบบ นางสาวกุลนิษฐ์ ผู้ดี อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3

ภาควิชาการออกแบบแฟชั่น คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

แนวคิด มาจากความประทับใจของคนกับช้าง ซึ่งสถานที่แต่ละที่ที่ได้สัมผัส ระหว่างการเดินทางในภาคเหนือ มักมีสิ่งหนึ่งซึ่งเหมือนกันเสมอ คือผลิตภัณฑ์มักมีลักษณะเป็นช้าง ทำให้เมื่อพูดถึงของฝากจากภาคเหนือจะนึดถึงช้างเป็นสิ่งแรก

จึงเห็นความผูกพันธ์ของคนกับช้าง ผ่านผลงานที่นำเสนอ

วัสดุ ฝ้ายและนุ่น โดยใช้การย้อมคราม

ผลงาน เสื้อ-กระโปรง 1 ชุด รองเท้า 1 คู่ กระเป๋าที่สามารถปรับเป็นหมวก 1 ใบ

รางวัลที่ 3

ชื่อผลงาน TRASH BACK !

ผู้ออกแบบ นางสาวณัฐวดี กาญจนโกมล อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3

ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนวคิด ผักตบชวาถือเป็นพืชเศรษฐกิจของคนพะเยา แต่สำหรับคนเมืองกลับเป็นแค่ขยะ แรงบันดาลใจของการทำโครงการนี้จึงเป็นการพัฒนาวัสดุที่เป็นแค่ขยะ ให้เข้าสู่วิถีชีวิตของคนเมืองได้อย่างแยบยล จากการศึกษาผักตบชวาจึงได้พัฒนาขบวน การผสมผสานแบบใหม่ เพื่อให้ได้วัสดุสำหรับสร้างผลงานที่ดีกว่าเดิม โดยอาศัยหลักการ 3 น้อย คือ ต้นทุนน้อย เวลาน้อย และแรงงานที่ใช้สร้างสรรค์ผลงานน้อยวัสดุ ผักตบชวา และป่านลินิน (HEMP-LINEN)

ผลงาน กระเป๋าใส่แล็บท็อป 1 ใบ กระเป๋าใส่ดินสอ 1 ใบ กล่องใส่บุหรี่ 1 กล่องและกระเป๋าใส่เอกสาร 1 ใบ

รางวัลที่ 4

ชื่อผลงาน A Fisherman

ผู้ออกแบบ นายภูวเดช แซ่ไหล อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4

ภาควิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา

แนวคิด เกิดจากการเป็นคนภาคใต้ ซึ่งไม่มีความรู้ด้านการทอผ้า แต่เมื่อลงพื้นที่ทางภาคเหนือจึงเห็นความสนใจของการทอผ้า เกิดเป็นความคิดที่จะนำวัสดุที่ทางภาคใต้มี และเป็นของเหลือใช้คือแห มาผสมผสานกับการทอผ้า สร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเครื่องนุ่งห่มสำหรับชาวมุสลิม

วัสดุ แห อวน และผ้าฝ้าย

ผลงาน ชุดมุสลิม 1 ชุด กระเป๋าและรองเท้า

รางวัลที่ 5

ชื่อผลงาน Locality to City

ผู้ออกแบบ นางสาวรสริน ตำนานธารา อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4

ภาควิชาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีเสื้อผ้าและแพทเทิร์น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

แนวคิด เกิกจากการนำวัสดุเดิมที่มีในพื้นถิ่นมาสร้างเป็นผลงานใหม่ ที่เพิ่มมูลค่ามากกว่า ใช้เวลาผลิตชิ้นน้อยกว่า ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยยังคงอัตลักษณ์ของชาวไทเขิน

วัสดุ ไม้ใผ่สานเป็นวัสดุหลัก

ผลงาน กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ และชุดรองจาน