นักเรียน ม.ปลาย จำนวน 100 คนจากผู้สมัคร 950 คนจากทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 3 ในปีนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากนักอนุรักษ์แถวหน้าของเมืองไทยแล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติในเส้นทางป่าดงดิบกับคุณศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กิจกรรมสำรวจโพรงรังเกาะติดชีวิต "นกเงือก" นกยักษ์นักปลูกป่า กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่ายามค่ำคืนและร่วมทำโป่งเทียม กับนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของไทย และเวิร์คชอปจุดประกายการทำโครงการเพื่อสังคม พร้อมนำเสนอโครงงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยโครงงานที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเองด้วย
นายกิติศักดิ์ นวลจันทร์ฉาย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและพัฒนาความยั่งยืน ปตท .สผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการ PTTEP Teenergy เปิดเผยว่า ปตท.สผ. มุ่งหวังให้โครงการ PTTEP Teenergy เป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกจิตสำนึกในกลุ่มเยาวชนในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ปตท.สผ. จึงมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง และนำความรู้ไปสร้างประโยชน์แก่สังคม ด้วยการพาเยาวชนไปสัมผัสความงดงามและความสำคัญของผืนป่าจนเกิดความหลงรักในคุณค่าของธรรมชาติ และพร้อมที่จะเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
มัสยา ส่องาม หรือ น้องเฟินนี่ นักเรียนชั้น ม. 5 จากโรงเรียนม่วงสามสิบ อัมพวันศึกษา จ.อุบลราชธานี เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมค่าย PTTEP Teenergy ในครั้งนี้ว่า "ถ้าอยากให้เขารัก เราต้องรักให้เขาเห็นก่อน" คำนี้เป็นแรงบันดาลใจที่หนูใช้ในการทำกิจกรรมจิตอาสาอยู่เสมอ หนูเชื่อว่าการที่เราจะทำสิ่งใดแล้วให้คนอื่นๆ ทำตามเรา มันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า "ต้องระเบิดจากข้างใน" คือเริ่มที่ตัวเรา เพื่อแสดงถึงพลัง ผ่านทั้งกาย วาจา ใจ ให้หลายๆ คนเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเข้ามาเป็นแนวร่วมกับเรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูมีหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีข้อแม้
"หนูเริ่มก่อตั้งชมรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในโรงเรียนชื่อว่า "ชมรมบักม่วง" เริ่มต้นจากสมาชิก 20 คน จนตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 150 คน ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน เพราะชมรมของหนู ไม่ได้มีเพียงแค่กิจกรรมเก็บขยะ แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมรับน้องชมรมโดยการพาไปดูงานที่สวนสัตว์ กิจกรรมปลูกต้นไม้ในโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น โดยเงินทุนที่นำมาหมุนเวียนในชมรมมาจากการขายขยะนั่นเอง สำหรับความคาดหวังในการมาร่วมกิจกรรมค่าย PTTEP Teenergy ในครั้งนี้ หนูต้องการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนาตัวเอง ชมรม โรงเรียน และชุมชนของหนูต่อไปค่ะ หนูอยากฝากถึงเพื่อนๆ เยาวชนที่ยังไม่เคยได้มาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้และคิดว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องน่าเบื่อ หนูอยากให้ทุกคนมาลองสัมผัสแล้วจะ "หลงรักป่า" อย่างไม่น่าเชื่อค่ะ"
ขณะที่ แพรวพันธุ์ ตันศิริ หรือ น้องจอย จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เล่าความประทับใจจากการมาร่วมกิจกรรมค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 3 ในครั้งนี้ว่า การที่คนเมืองจะได้มาสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดขนาดนี้มันเป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อมีโอกาสแล้วหนูก็เลยอยากลองดู พอมาแล้วก็รู้สึกประทับใจมาก ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก อย่างเช่นตอนกิจกรรมเดินป่าก็ได้เจอพันธุ์ไม้แปลกๆ หรือ สัตว์แปลกๆ อย่างเช่น งูดิน ซึ่งหนูไม่เคยรู้จักมาก่อน รวมถึงนกเงือก ซึ่งปกติหนูเคยเห็นแต่ในสวนสัตว์ 2-3 ตัว แต่มาที่นี่ได้เห็นนกเงือกเป็นฝูงก็รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ ทุกประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายนี้ทำให้หนูเกิดแรงบันดาลใจและมองเห็นอนาคตของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะหนูอยากทำงานด้านการอนุรักษ์อยู่แล้ว พอได้เข้ามาสัมผัสของจริงยิ่งทำให้หนูรู้แนวทางมากขึ้น แผนในอนาคตหนูสัญญาว่าจะขอเป็นหนึ่งพลังที่จะช่วยเหลือสังคมในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามรอยพ่อของแผ่นดินที่ท่านทรงเสียสละแรงกายเพื่อพัฒนาประเทศ ส่วนเราก็ควรทำหน้าที่ของลูกดูแลประเทศนี้ให้ดีตามที่พ่ออยากให้เป็นต่อไปค่ะ
ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หนึ่งในวิทยากรค่าย PTTEP Teenergy เปิดเผยว่า ในพื้นที่อนุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเน้นย้ำในเรื่องของ "ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ" ด้วยการไม่นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปยุ่งหรือข้องเกี่ยวกับธรรมชาติมากนัก ในกรณีที่ธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรม หากทุกคนเข้าใจหลักการตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำมาประยุกต์ออกแบบรูปแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องทำให้คนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการแล้วสิ่งสำคัญก็คือจะต้องให้ประชาชนเข้ามาสัมผัส มาเรียนรู้ สุดท้ายแล้วจะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทรัพยากร ก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นกรองความคิด ความรู้สึก รวมถึงกลั่นกรองข้อความที่จะถ่ายทอดบอกเล่าบอกต่อได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราในการดำเนินการสร้างแนวร่วมหรือสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ เราต้องการให้เขา "เข้าใจ เข้าถึง แล้วนำไปพัฒนา" อย่างเช่นแนวทางที่พระองค์ท่านได้วางไว้
"สอดคล้องกับกิจกรรม PTTEP Teenergy ครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฮีโร่ สร้างบุคลากร ให้เข้าใจเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวทางปฏิบัติที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ เมื่อเยาวชนเหล่านี้กลายเป็นฮีโร่ที่ได้รับรู้เรื่องราวและประสบการณ์ ก็จะสามารถไปบอกต่อกับคนใกล้ตัว ซึ่งนั่นเองจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นแนวทางที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในฐานะที่ทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าปีต่อๆ ไป เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วน ตามกรอบที่พระองค์ท่านให้ไว้ เสมอมา" หมอล็อตกล่าวเสริม
ปตท.สผ. มีความภูมิใจที่ได้สนับสนุนเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการ PTTEP Teenergy ปตท.สผ. มีเป้าหมายที่จะขยายโครงการไปยัง 4 ภูมิภาค และจัดกิจกรรมส่งเสริมเยาวชน นักอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนหัวใจอนุรักษ์ให้กระจายออกไปสู่ทุกภูมิภาค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit