โครงการประกวดผลงาน “นวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ครั้งแรกของไทย

28 Nov 2016
ด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวพระราชดำริโดยเน้นหลักการพึ่งตนเองของรัฐบาลที่หันมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมในประเทศมากขึ้น สมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Technology Association: DEFTA) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์จากภาคสถาบันการศึกษาเพื่อการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศในอนาคต ได้ริเริ่มให้มีการจัดโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประจำปี 2559 ขึ้น หรือ Innovation for Deference Technology Contest 2016: IDT Contest-2016 ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และศูนย์วิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี,มหาวิทยาลัยรังสิต, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยในปีแรกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งได้มีการประกาศผลการประกวดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ
โครงการประกวดผลงาน “นวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ครั้งแรกของไทย

พล.อ.อ.พงศธร บัวทรัพย์ นายกสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคความมั่นคง ทางสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศถือเป็นบทบาทหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่มีภารกิจเกี่ยวกับการวิจัยด้านความมั่นคง และเห็นว่างานวิจัยไม่เจาะจงต้องดำเนินการในสถาบันใดเพียงแห่งเดียว เชื่อว่าการประกวดผลงานครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เยาวชน นักศึกษา ให้สร้างสรรค์ผลงานหรือแนวคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต้นแบบที่จะนำมาใช้งานทางด้านการป้องกันประเทศได้จริง โดยทางสมาคมฯ จะนำแนวความคิดหรือผลงานของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลนำไปต่อยอดร่วมกับงานวิจัยที่ทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมป้องกันประเทศตามที่หน่วยงานต้องการมาใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศต่อไปในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ยิ่งถาวรสุข ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะประธานจัดการประกวดฯ กล่าวว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมฯ เป็นการนำความรู้การจัดการความรู้และความคิดสร้างสรรค์นำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการสนับสนุนการป้องกันประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษาได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จึงจัดให้มีการประกวดผลงานนวัตกรรมเพื่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประจำปี 2559 ขึ้น

เป็นครั้งแรก และจะจัดให้มีการประกวดขึ้นทุกปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมทางความคิดและสร้างนวัตกรรมในการสนับสนุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ในปีนี้มีผู้นำผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทบรรยาย (Oral Presentation) จำนวน 21 ผลงาน และโปสเตอร์ (Poster Presentation) จำนวน 37 ผลงาน ผลการประกวดในประเภทบรรยาย (Oral Presentation) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ระบบสอดส่องแนวโน้มการก่อความวุ่นวายจากการเผยแพร่ข่าวสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผลงานของนายจิระวิน บูรณะพาณิชย์กิจ และนายณัฐวุฒิ สำเร็จ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเจ้าของผลงานกล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้สื่อโซเซียลมีเดียสร้างข่าว ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม อาจส่งผลให้เกิดเหตุความวุ่นวาย จึงคิดพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขก่อนเกิดปัญหา เพราะเชื่อว่าหากสามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมการรับมือเหตุการณ์นั้นได้ ปัญหาความรุนแรงก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ UAV ขึ้น-ลงแนวดิ่ง เพื่อการสำรวจทางอากาศสำหรับหน่วยลาดตระเวนภาคพื้น ผลงานของนายนายอฎิชัย วิจารณ์ และนายอิศราทิตย์ บุญเหลือ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากทางสมาคมเทคโนโลยีป้องกันประเทศและพร้อมสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ผลงานระบบลาดตระเวนอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบวัตถุระเบิดใต้พื้นดิน ผลงานของนายศุภกฤษฎ์ กู้เจริญประสิทธิ์, นางสาว ปราณรงค์ มหาคุณ และนายณัฏฐวีร์ ผาสุก จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลการประกวดประเภทโปสเตอร์ (Poster Presentation) รางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แก่ ผลงานระบบตรวจจับอาวุธมีดและปืนโดยใช้การประมวลภาพแบบ Deep Learning Image Processing for Weapon Detection และผลงานระบบตรวจจับคนร้ายอำพราง Detecting Criminals Systemตามลำดับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงาน Drone ลาดตระเวนค้นหาวัตถุใต้พื้นและสิ่งกีดขวาง โดย Wireless X-ray Patrolling Drone จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายในงานยังได้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "เทคโนโลยีป้องกันประเทศ"จากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาคมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หวังกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาฐานความรู้นวัตกรรมสนับสนุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

HTML::image( HTML::image( HTML::image(