ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร แซ่เอียว อาจารย์สาขาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟอาหารไทย อันดับ 1 ของประเทศ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุธพงศ์ ลาภเจริญ อาจารย์กลุ่มวิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุธพงศ์ ลาภเจริญ อาจารย์กลุ่มวิชาการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า โครงการสัมมนาการท่องเที่ยวครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยด้านอาหาร ด้านการเกษตร และด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมธุรกิจอาหาร ผู้มีชื่อเสียงด้านอาหาร รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งทำให้ทราบถึงทัศนคติและความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในด้านกิจการเพื่อสังคม ที่เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้าง "จุดขาย" ให้ภาคอีสานได้อย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา มณีเนตร ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ผู้รับผิดชอบโครงการและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐในด้านการมุ่งสู่การเป็น "ครัวของโลก" เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ และสำหรับด้านอาหารของไทยนั้น บ่งบอกถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย และสิ่งหนึ่งที่ดำเนินควบคู่มากับอาหารก็คือ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแห่งความเป็นไทยผ่านอาหาร โดยเฉพาะอาหารอีสาน ด้วยการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย มักจะรับประทานได้ทุกอย่างซึ่งแสดงถึงการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ชาวอีสานมักรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานมีความแตกต่างจากอาหารอื่นๆ ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลัก พวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลา หรือเนื้อวัว รสชาติอาหารส่วนใหญ่แล้วจะออกรสไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว เครื่องปรุงอาหารสำคัญแทบขาดไม่ได้เลยคือ ปลาร้า ที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษมานับร้อยปี
"ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ อาหารไทยมีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากความโดดเด่นด้านรสชาติแล้ว อาหารไทยยังแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่มีชาติใดทัดเทียมได้ สิ่งหนึ่งที่ดำเนินควบคู่มากับการท่องเที่ยวของไทยคือ การถ่ายทอดวัฒนธรรมวิถีชีวิตแห่งความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้ จะมีส่วนกระตุ้นเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวให้มีการตื่นตัว และส่งเสริมให้เกิดความเป็นอัตลักษณ์ด้านอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารอีสาน หากเราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว เชื่อว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของอาหารไทย ผ่านทางอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวได้ และจะเป็นการเพิ่มรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ และเป็นการส่งเสริมนโยบายของประเทศ เรื่อง "ครัวไทย สู่ครัวโลก" ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา มณีเนตร กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit