นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกประมาณ 800 ล้านคน อยู่ในภาวะความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี พ.ศ.2593 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะมีมากถึง 9.6 พันล้านคน ทำให้โลกมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น แต่ท่ามกลางปัญหาดังกล่าว โลกยังต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการผลิตทางการเกษตรของมนุษย์ ปัญหาโลกร้อนจึงถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต
ดังนั้นเนื่องใน "วันอาหารโลก" ประจำปี 2559 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวมาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ ภายใต้แนวคิด "วิถีเกษตรต้องเปลี่ยนแปลง ตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป" เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเป้าหมายการลดจำนวนผู้หิวโหยเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2573
นายฉันทานนท์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรและวางระบบการผลิตอาหารให้เกิดความยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับ FAO และจังหวัดเชียงราย กำหนดจัดงาน "วันอาหารโลก" ในระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อการผลิตทางอาหารและการเกษตร พร้อมทั้งถ่ายองค์ความรู้ เทคนิค และสาธิตวิธีการทำการเกษตรทั้งการเพาะปลูก การปศุสัตว์ การประมง ให้มีคุณภาพและได้ผลผลิตสูง ภายใต้ภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
ด้าน พันจ่าตรีเทวัญ ธนมาลารัตน์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่สำคัญภายในงาน "วันอาหารโลก" ได้แก่ การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และโครงการตามพระราชดำริด้านการเกษตรภายใต้ปัญหาภาวะโลกร้อน เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำ การทำเกษตรผสมผสาน ทำเกษตรแบบขั้นบันได แบบพึ่งพาธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี, นิทรรศการ "เตรียมปรับรับโลกร้อน และเราจะอยู่กับโลกร้อนได้อย่างไร" นิทรรศการมีชีวิตของหน่วยงานต่างๆ อาทิ "โมเดลลุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย" โดยกรมชลประทาน "ตามรอยพ่อสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง" โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์, "การเลี้ยงปลานิลพระราชทาน การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบน้ำน้อย" โดยกรมประมง, "โครงการธนาคารโค-กระบือ" โดยกรมปศุสัตว์, การสาธิตการปรับปรุงบำรุงดิน การใช้แผนที่ Agri-map การจัดระบบ Zoning แบบจำลองอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยกรมพัฒนาที่ดิน
นิทรรศการ "พันธุ์พืช" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น กาแฟ มะคาเดเมีย ชา และการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยกรมวิชาการเกษตร, การจำลองกระบวนการผลิตชาอินทรีย์ การปลูกพืชไฮโดรโปรนิกส์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร, "การแปรรูปข้าวผ่านระบบสหกรณ์" โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบนแผ่นดินของพ่อ" โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ในงานยังมีการจัดเสวนาองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับเกษตรกรและประชาชน อาทิ "วิถีการผลิตอาหารและการเกษตรต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" "เกษตรพันธะสัญญา" "การเกษตรตามรอยพ่อ" และ "การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิต" โดยพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ขณะเดียวกันยังมีการนำสุดยอดเมนูอาหาร 30 สำรับ จาก 17 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะยกครัวมาปรุงให้ชิมทุกวัน รวมทั้งการเปิดให้ชิมชาอู่หลงของแท้ กาแฟยอดดอย สัปปะรดภูแล ส้มโอเวียงแก่น และข้าวหนียวมูลเขี้ยวงู ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ นำผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์โอทอป อาหาร ผลไม้ และอื่นๆ มาออกร้านสาธิตและจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาประหยัด
ด้านนายบญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า "ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงรายเองมีความพร้อมแล้วสำหรับการจัดงานครั้งนี้ จึงอยากเชิญชวนประชาชนและเกษตรกรเดินทางมาร่วมงานวันอาหารโลก ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อรับรู้รับทราบถึงสถานการณ์และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งแนวทางการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อันจะนำมาซึ่งความพร้อมของประเทศไทย ให้ปราศจากความหิวโหยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit