นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และเข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในระยะต่อไป ประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันออกเคลื่อนเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยมีอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4 - 6 องศาเซลเซียส และบางจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้มีฝนตกหนัก ในระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2559 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น โดยสำรวจและจัดทำบัญชีความต้องการเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เพื่อวางแผนแจกจ่ายได้สอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อน รวมถึงเตรียมการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว อาทิ ไฟป่า หมอกควัน เพลิงไหม้ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงหมอกปกคกลุมเส้นทาง นอกจากนี้ บางจังหวัด ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้จะเกิดฝนตกหนัก ในระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2559 แยกเป็น ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน โดยจัดเตรียมสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย พร้อมแจ้งเตือนชาวประมง เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน บริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัย ของจังหวัดให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงขอให้ดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรควรผูกยึดและจัดทำที่กำบัง เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit