เอทีซีไอ นำทัพซอฟต์แวร์ไทย ร่วมแข่ง APICTA 2016 ที่ไต้หวัน

23 Nov 2016
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ประกาศผลและมอบรางวัล โครงการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์แห่งชาติประจำปี 2016 หรือ "THAILAND ICT AWARDS (TICTA) 2016" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ รวมถึงนิสิต นักศึกษา เกิดความตื่นตัวในการผลิตและพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพ พร้อมนำทีมซอฟต์แวร์ไทย 20 ทีม ร่วมประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก APICTA 2016 ที่ไต้หวัน ภายในงานได้รับเกียรติจากพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ "บทบาทของ Start up กับเศรษฐกิจดิจิทัล" จัดขึ้น ณ ห้อง เลอ โลตัส โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
เอทีซีไอ นำทัพซอฟต์แวร์ไทย ร่วมแข่ง APICTA 2016 ที่ไต้หวัน

สำหรับการแข่งขัน THAILAND ICT AWARDS (TICTA) 2016 ได้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 โดยมีเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ได้แก่ Uniqueness, Proof of Concept, Functionalities, Quality/Application of Technology และ Presentation

ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า "โครงการ THAILAND ICT AWARDS (TICTA) เป็นโครงการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์แห่งชาติที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 หลังจากที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ขึ้น โครงการนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ รวมถึงนิสิต นักศึกษาเกิดความตื่นตัวในการผลิตและพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ การนำผลงานร่วมประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards มีผลให้เกิดผลงานซอฟต์แวร์ที่หลากหลายและสามารถนำไปเผยแพร่แก่กลุ่มผู้ใช้ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ อันสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างและส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศให้มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้น"

คุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า "โครงการนี้มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความตื่นตัวในการผลิตและพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลและสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟแวร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแท้จริง การขยายตัวและเชื่อมโยงทางธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสและช่องทางในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงจัดการประกวดกันต่อเนื่องทุกปี และมีประเทศต่างๆ ตอบรับเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น โดยสำหรับปีนี้ ล่าสุด คือสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามาร่วมการแข่งขัน ดังนั้น หากประเทศต้องการส่งเสริมให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่เวทีสากล จำเป็นต้องสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทซอฟต์แวร์และผู้เข้าประกวดได้เตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นปีและร่วมกันพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าแข่งขันอย่างต่อเนื่องต่อไป"

คุณวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "การแข่งขันนี้เป็นการส่งเสริมด้าน Market Awareness ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั้งภายในและระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่รองรับยุทธศาสตร์หลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในฐานะผู้นำในการพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ โดยกลุ่มผู้เข้าแข่งขันที่เข้าร่วมประชันผลงานซอฟต์แวร์ ได้แก่ บริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรไทยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในองค์กรและเพื่อการพาณิชย์ กลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย กลุ่มนักพัฒนาอิสระ โปรแกรมเมอร์ นักวิจัย รวมถึงนักเรียน นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่มีความสนใจและทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ และนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกที่ศึกษาหรือสนใจด้านการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์"

สำหรับการประกวด TICTA 2016 แบ่งประเภทการประกวดออกเป็น 17 หมวด มีผลงานส่งเข้าร่วมแข่งขัน 182 ผลงาน ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 16 ผลงาน และผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ 18 ผลงาน โดยโครงการฯ จะสนับสนุนผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแต่ละประเภทเข้าร่วมแข่งขัน APICTA 2016 ที่ไต้หวัน สำหรับหมวดนักเรียนและนักศึกษา โครงการฯ ให้การสนับสนุนทั้งทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศเข้าร่วมแข่งขัน APICTA Awards ด้วย ทั้งนี้ ทีมไทยร่วมแข่งขัน APICTA Awards 2016 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ทีม เป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนและทีมที่สนใจสมัครร่วมแข่งขันเองด้วย

APICTA Awards 2016 เป็นเวทีการประกวดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 ธันวาคม 2559 ที่กรุงไทเป ไต้หวัน นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 16 โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดประมาณ 250 ผลงาน จาก 16 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

HTML::image( HTML::image(