รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

23 Nov 2016
วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2559) นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ ดังนี้
รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

แผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564

• เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อน 5 เทคโนโลยี ได้แก่ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) การออกแบบกลไกราคาและสิ่งจูงใจ และการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Pricing and Incentive Design and Demand Response: DR) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro Grid) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast System) ภายใต้ 3 เสาหลัก ดังนี้

1) เสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงาน

2) เสาหลักที่ 2: ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน

3) เสาหลักที่ 3: ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กและระบบกักเก็บพลังงาน

ทั้งนี้ แผนฯ ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการศึกษาวิจัย การสาธิตนำร่อง และการเตรียมการเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสมาร์ทกริดของประเทศ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากร การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเตรียมแหล่งเงินทุนสนับสนุน ตลอดจนการจัดทำร่างแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในระยะปานกลางเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการรวมกว่า 5 พันล้านบาท สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผนฯ นี้คือ ช่วยลดภาระการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภท Peaking Plant 350 MW สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) เข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยรองรับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 3.5 GW ณ ปี 2564 สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015) รวมทั้งเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ห่างไกล• ที่ประชุม กบง. เห็นชอบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานต่อไป

แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและ LNG เพื่อความมั่นคง

• จากการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศอย่างต่อเนื่อง พบว่า เนื่องจากในปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558 - 2579 (PDP 2015) ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้การดำเนินงานตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวงพลังงาน จึงได้มีการทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคาดว่า ในปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลงในอนาคต ส่งผลทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ในปี 2565 ความต้องการการนำเข้าจะอยู่ที่ประมาณ 17.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประมาณการเดิม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และในช่วงปลายแผน คือ ในปี 2579 ความต้องการการนำเข้า LNG จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 34 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงจำเป็น

ต้องมีการปรับแผนโครงสร้างพื้นฐานและการจัดหา LNG ในระยะยาวของประเทศ ให้สอดคล้องและสามารถรองรับความต้องการใช้และการจัดหาที่เพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้

• ที่ประชุม กบง. รับทราบประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น พร้อมเห็นชอบให้มีการนำเสนอ กพช. พิจารณาในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) ดังนี้

1) โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง [T-2] ที่ กพช. ได้เคยมีมติมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559) ให้สามารถดำเนินการขยายให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น จากเดิม 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการมีคาดการณ์จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศจะลดลงมากกว่าที่เคยประมาณการไว้

2) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในประเทศเมียนมา ขนาด 3 ล้านตันต่อปี โดยมอบหมายให้ ปตท. ไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560

3) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ของ กฟผ. ให้นำผลการศึกษาเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป

HTML::image(