อพท.หนุน “ข้าวสั่งทำและคัดเมล็ดด้วยมือ” ภูมิคุ้มกันชาวนาอินทรีย์ที่บ้านดงเย็น

23 Nov 2016
ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ยังคงเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วน ต่างร่วมแรงร่วมใจกันเปิดช่องทางการกระจายผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดให้ได้มากที่สุดในเวลานี้ แต่ในเวลาเดียวกันก็คงมีประชาชนหลายคน ต่างตั้งคำถามว่า ที่สุดแล้วการเปิดช่องทางการกระจายข้าว มันเป็นหนทางที่แก้ปัญหาที่ต้นตอ หรือแค่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่ชาวนาประสบอยู่เท่านั้น และแล้ว...ปัญหาก็ยังวนเวียน ซ้ำเติมอาชีพชาวนา "กระดูกสันหลังของชาติ" ที่อ่อนระโหย แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวนามีกำลังใจทำนา โดยเปลี่ยนวิธีคิด แล้ว "คลิก" ไปสู่การพัฒนาการปลูกข้าวที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง วันนี้ อพท. ได้หยิบเอา "การทำนาที่บ้านดงเย็น" มาเป็นวิธีคิด เพราะที่นี่ไม่เคยประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า หลายคนคงคิดว่าราคาข้าวที่ตกต่ำอยู่ขณะนี้ ชาวนาคงจะแย่กันทั้งประเทศ ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะยังมีชาวนาที่เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติที่ตนเองมี มีความรู้เรื่องสายพันธุ์ข้าว รู้ดิน รู้การทำน้ำหมักจุลินทรีย์แทนการใช้สารเคมี ปลูกข้าวให้เหมาะกับสภาพอากาศและน้ำเท่าที่พึ่งมี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รวมอยู่ที่ "โมเดลการทำนาที่บ้านดงเย็น สุพรรณบุรี" หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.๗) แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านมีการปลูกข้าวเหมือนชาวนาทั่วไป เคยบาดเจ็บจากการปลูกข้าวแล้วราคาตกต่ำ ต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มกันศึกษาพันธุ์ข้าวโดยมี มูลนิธิข้าวขวัญ ให้คำแนะนำ และมีการสร้างเครือข่ายการปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งภายในตำบลอู่ทองด้วยกันเอง ขยายไปตำบลเจดีย์ ตำบลกระจัน และเชื่อมโยงไปสู่ระดับอำเภออู่ทอง ทำให้เกิดการเรียนรู้การจัดการต้นทุน และเลือกปลูกข้าวตามความเหมาะสมกับพื้นที่ ภายใต้ชื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น ที่สำคัญคือ เน้นทำการตลาดแบบเครือข่าย มีการอ้างอิงราคาข้าวกันเองในกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ไม่มีการขายข้าวตัดราคากัน และรู้กันในกลุ่มว่าในช่วงหน้านาปีนี้ ใครปลูกข้าวชนิดไหน ก็จะช่วยกันทำการตลาดระหว่างกันอีกด้วย โดยในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมานี้ ดงเย็นไม่ได้มีอาชีพแค่เป็นชาวนาหรือคนปลูกผักอินทรีย์ ปัจจุบัน อพท.ได้ยกระดับองค์ความรู้เรื่อง "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" มีเจ้าหน้าที่ อพท.ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันชาวนาหรือคนปลูกผักกลายเป็นปราชญ์ที่มีความรู้จะถ่ายทอดเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๐ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) นำโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธาน กพท. และ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.อพท. มีแนวคิดที่จะนำข้าวจากบ้านดงเย็น มาเป็นของขวัญปีใหม่ไว้แจกภาคีเครือข่ายโดยมีความมุ่งหวังให้ภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการและสื่อมวลชนได้รับประทานข้าวที่มีคุณภาพสูง มีความปราณีตในทุกขั้นตอน

นางทวี แก้วสระแสน รองประธานวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น เล่าว่า บ้านดงเย็นตั้งอยู่ที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แม้พื้นที่บริเวณนี้จะมีดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าว แต่ยังประสบปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร จึงเลือกที่จะทำนาหว่านแบบหมักตากแห้ง วิธีการคือ ไถ่แปลงนาและใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ที่ปลอดสารเคมี ทำการไถ่กลบหญ้าที่ขึ้นในแปลงนา หว่านข้าวแบบไม่ใช้น้ำตากแปลงนาแห้งๆ ปล่อยทิ้งไว้รอน้ำฝนตกลงมา จนข้าวออกรวง มีการคำนวณเวลาข้าวให้เหมาะสม การเกี่ยวข้าวก็จะเลือกเกี่ยวในช่วงพลับพลึงคือเลือกเกี่ยวข้าวนับจากวันที่ข้าวออกดอกไปแล้ว ๒๘-๓๐ วัน โดยอาศัยแรงของชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายช่วยกันเกี่ยวโดยไม่ใช้รถเกี่ยวข้าวและใช้โรงสีข้าวขนาดเล็กที่มีกันในกลุ่มสมาชิกเพื่อประหยัดต้นทุน ข้าวที่ได้จะไม่แก่จัดเหมือนกับที่ชาวนาทั่วไปเขาเกี่ยวข้าวกัน ข้าวที่เกี่ยวจะมีสีเขียวปนบ้างหรือเรียกว่า "เกี่ยวข้าวช่วงพลับพลึง" คุณภาพข้าวที่ได้จะมีความหอมชวนรับประทาน ส่วนการเกี่ยวข้าวที่เหลืองแก่จัดเต็มที่ จะแบ่งไว้เกี่ยวสุดท้ายเพื่อไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในการปลูกข้าวครั้งต่อไป บ้านดงเย็นมีพันธุ์ข้าวที่เลือกปลูกอยู่ ๗ พันธุ์ด้วยกัน เป็นข้าวหอม ๖ ชนิดและพันธุ์พื้นเมือง ๑ ชนิด ได้แก่ หอมนิล หอมไรซ์เบอรี่ หอมมะลิแดง หอมประทุมเทพ หอมมะลิพันธุ์ ๑๐๕ หอมสุพรรณ และข้าวขาวตาเคลือบ (ข้าวพันธุ์พื้นเมือง)

โดยในปี ๒๕๕๙ นี้กลุ่มวิสาหกิจบ้านดงเย็น เน้นปลูกข้าวข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ และหอมมะลิแดง เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิแดงเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีน้ำตาลในเลือดสูงเพราะมีรสชาติหวานน้อยกว่าข้าวพันธุ์อื่น เคยมีการทดลองให้ลูกค้าที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ปรากฎว่าดีต่อการรักษาและช่วยให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลง และการที่ อพท. มีการส่งเสริมให้ชาวนาบ้านดงเย็น สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ ด้วยการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาบ้านดงเย็นเลือกที่จะใช้กิจกรรมการคัดข้าวทุกเมล็ดด้วยมืออย่างประณีต เพื่อสร้างการจดจำในตราสินค้า (Brand Loyalty) ยิ่งช่วยดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวและผู้ซื้อข้าวเชิงคุณภาพ เกิดความเชื่อมั่นในข้าวของบ้านดงเย็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวที่ซีลอยู่ในถุงทุกเมล็ดถือเป็นข้าวคุณภาพดี แม้ตอนนี้จะไม่มีการจัดส่งข้าวทางไปรษณีย์แต่ก็มียอดจองซื้อข้าวก่อนปลูกในครั้งถัดไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งข้าวที่ใช้สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว

นางทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การขายข้าวที่มีคุณภาพมั่นใจว่าปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ การปลูกข้าวแบบนี้เรากินเองก็สุขใจคนซื้อไปเขาก็สุขภาพดี เห็นบ่อยครั้งที่ชาวนาใช้สารเคมีไม่กล้ากินข้าวที่ตัวเองปลูกและแอบไปซื้อข้าวของชาวนาอื่น การมีเพื่อนในอาชีพเดียวกันไม่ขายตัดราคากัน ราคาอ้างอิงกันในกลุ่มผู้ค้าข้าวในมาตรฐานเดียวกัน หากไม่ซีลตกกิโลกรัมละ ๗๐ บาท ถ้ามีการซีลข้าวและติดตราสินค้าตกกิโลกรัมละ ๘๐ บาท ใครปลูกอะไรก็อย่าปลูกพันธุ์เดียวกัน รู้จักหาลูกค้าในมืออยู่ตลอดเวลา จดข้อมูลความต้องการข้าวแต่ละพันธุ์ของลูกค้า ถ้ามีลูกค้าคนไหนทักข้าวพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ขึ้นมา ปีหน้าก็ปลูกพันธุ์นั้น จุดนี้เองที่ทำให้วิสาหกิจชุมชนบ้านดงเย็น สามารถเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องเป็นหนึ่งในชาวนาผู้ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือเอกชนในการระบายข้าวที่ราคาตกต่ำอยู่ ณ ขณะนี้ นอกจาก วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น จะมีการรวบกลุ่มกันทำนาที่บ้านดงเย็นแล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายการปลูกข้าวอินทรีย์ไปสู่ "กลุ่มส่งเสริม" และเข้าร่วมกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืนนี้ ถือเป็น Hub ใหญ่ในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิกชาวนาเกษตรอินทรีย์จำนวน ๖๕ คน กระจายอยู่ทุกส่วนต่างๆ ของอำเภออู่ทอง ชาวนาในเครือข่ายได้เรียนรู้การเตรียมแปลงอินทรีย์ รู้จักกำหนดวัตถุประสงค์และวัดผลสัมฤทธิ์ของการปลูกข้าว มีการทำการตลาดที่ไม่ฉาบฉวย ใช้วิธีการค้าข้าวแบบทำข้อตกลงกับผู้รับซื้อข้าวอินทรีย์รายใหญ่ ส่วนการค้าข้าวรายย่อยก็มีการซื้อขายตามปกติ มีการเข้าสู่ระบบการรับรองคุณภาพ