สำหรับการดำเนินการแปลงใหญ่ในปี 2559 มีการดำเนินการไปแล้วจำนวน 600 แปลงโดยมีเป้าหมายให้กลุ่มสามารถบริหารจัดการแปลงในด้านการวางแผน จัดการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการกลุ่มได้ดีขึ้น ลดต้นทุน 20% เพิ่มผลผลิต 20% ยกระดับคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเพิ่มศักยภาพการบริหารการจัดการ ซึ่งในปี 2560 ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายไว้จำนวนไม่น้อยกว่า 400 แปลง พร้อมทั้งพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในแต่ละกลุ่มสินค้า เบื้องต้น ได้กำหนดแผนโรดแมปในการทำงาน อาทิ การบูรณาการงบประมาณจากทุกหน่วยงานในสังกัด การเร่งพัฒนากระบวนการกลุ่มให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่มีความเข้มแข็งขึ้น การพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร การพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคประจำแปลง เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนธุรกิจรายฟาร์มและแผนธุรกิจกลุ่ม โดยคาดว่าในเดือนมกราคม 2560 จะผ่านการรับรองของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแปลงเตรียมความพร้อมอีกจำนวน 512 แปลง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มใน 6 เดือน หากพร้อมให้รับรองเป็นแปลงใหญ่ในปี 2560 ต่อไป และคาดว่าจะมีแปลงใหญ่ในปี 2560 ทั้งหมดอย่างน้อย 1,512 แปลง
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นสมาชิกแปลงใหญ่สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้เกษตรกรในแปลงใหญ่สามารถนำไปพัฒนากิจกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการผลิต และการตลาดที่จะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่เหมาะสม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติยกเลิกโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (วงเงิน 2,204.45 ล้านบาท จำนวน 426 แปลง รัฐบาลรับภาระอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี กลุ่มเกษตรกรจ่ายอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 (วงเงิน 3,478.60 ล้านบาท จำนวน 650 แปลง รัฐบาลรับภาระอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี กลุ่มเกษตรกรจ่ายอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี) โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง อนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาท (ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ ธ.ค. 2559 – ธ.ค. 2564) อนุมัติค่าชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 3,000 ลบ. โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ได้ให้ความเห็นชอบโครงการของกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตรที่เสนอขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท และคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.01 ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยเรียกเก็บจากกลุ่มเกษตร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.00 ต่อปี ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ พฤศจิกายน 2559 – เมษายน 2570 ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ธันวาคม 2559 – ธันวาคม 2564 และ ระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยภายใน 5 ปี นับแต่วันกู้ (ไม่เกินเดือนธันวาคม 2569) อีกทั้งมีเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมดำเนินการตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 2,000 แปลง รวมถึงกลุ่มที่ได้รับสินเชื่อจากโครงการสนับสนุน สินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 แล้ว โดยให้สามารถใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ไปด้วย