รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่ามหาวิทยาลัยได้จัดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการทำบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาคน พัฒนาความรู้เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็ง ซึ่งหมายรวมถึงคนด้อยโอกาสและคนพิการ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้คนทุกคนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพเพื่อช่วยกันพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
"โครงการฯ นี้ ไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัยและคนพิการเท่านั้น นักศึกษารวมถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ได้เห็นการทำงานที่ทำให้เกิดโอกาสการพัฒนาที่ดี และสร้างการมีจิตสาธารณะ ทำให้บริบทของมหาวิทยาลัยสมบูรณ์มากขึ้น โดยมจธ.มีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพคนพิการ และจะจัดให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการมากขึ้นและจะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมถึงตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมมหาวิทยาลัยที่ได้พัฒนาศักยภาพแก่คนพิการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับคนพิการเข้าไปทำงานเพราะคนพิการกลุ่มนี้มีสมรรถนะความสามารถพร้อมเข้าทำงานได้ จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการว่าโครงการนี้สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้จริง สำคัญที่สุด คือ ตัวคนพิการเองรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่สามารถพัฒนาตนเองได้ทำงานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นๆได้มากขึ้น"
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวภายหลังมอบวุฒิบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการว่า แม้จะเปิดโครงการมาแล้ว 3 รุ่น สามารถพัฒนาศักยภาพคนพิการไปแล้วรวมกว่า 75 คน แต่ถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนพิการที่มีการลงทะเบียนอยู่กว่า1.6 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะที่ตลาดแรงงานยังมีความต้องการคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงอยากขอความร่วมมือครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นคนพิการเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นออกมารับความช่วยเหลือเพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพมากขึ้น
ในส่วนของผู้ประกอบการภาคเอกชนนั้นตามกฎหมายแรงงานจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในกรณีที่บริษัทยังไม่พร้อมรับคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่กว่าหมื่นล้านบาทแต่ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย ดังนั้นหากนำเงินจำนวนดังกล่าวที่บริษัทต้องนำเข้าสมทบกองทุนฯ มาสนับสนุนการฝึกอบรมคนพิการในโครงการนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน จึงอยากชักชวนให้ผู้ประกอบโดยเฉพาะSME เข้ามาร่วมสร้างโอกาสให้กับคนพิการผ่านโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการที่ มจธ.ดำเนินการมากขึ้น และคาดหวังว่าจะเห็นการขยายตัวของโครงการลักษณะนี้เพิ่มขึ้น โดยสถาบันการศึกษาและบริษัทสามารถนำโครงการนี้ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบไปขยายผลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนพิการในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะต่างจังหวัด
นายสุวิทย์ คงปิยาจารย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ฮงเส็งการทอ จำกัด และบริษัทในเครือฮงเส็งกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผลิตชุดกีฬาส่งออกให้กับแบรนด์กีฬาชั้นนำของโลกมากว่า 30 ปี กล่าวว่า บริษัท ได้รับคนพิการจากโครงการฯ เข้าทำงานด้วยกัน 3 คน โดยได้ไปคัดเลือกผู้ร่วมงานด้วยตนเองเพราะตั้งใจจะรับเข้าทำงานหลังจบโครงการแล้ว และยอมรับว่าหลังจากที่คนพิการได้เข้ามาฝึกงานที่บริษัทในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำให้บริษัทผิดหวังหรือต้องเป็นกังวล เพราะคนพิการกลุ่มนี้มีการเตรียมความพร้อมมาค่อนข้างดีสามารถดูแลตัวเองได้และพร้อมทำงานทันที ที่สำคัญสามารถทำงานกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆได้ดี เพราะได้รับการฝึกอบรมมาดี
"เราไม่ได้แค่รับมาฝึกงานแต่ตั้งใจรับคนพิการเข้ามาทำงาน และนอกจาก 3 คนนี้แล้ว บริษัทยังมีความต้องการรับคนพิการที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้ของมจธ.ในรุ่นต่อไปเพิ่มอีก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานกับที่พักของคนพิการด้วย ยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากเพราะแทนที่จะเอาปลาไปให้แต่เหมือนเป็นการสอนวิธีการจับปลาให้เขา ก็จะทำให้ชีวิตของคนพิการมีความยั่งยืน มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเป็นกำลังของชาติได้ต่อไป ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย และบริษัทพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนโครงการในโอกาสต่อไป"
นายสมจินต์ กระจายศรี (หนึ่ง) อายุ 39 ปี คนพิการเข้าทำงานที่ฮงเส็งการทอ เดิมประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ เล่าให้ฟังว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมาใช้ชีวิตหลบหนีออกจากสังคมเพราะทำใจไม่ได้หลังประสบอุบัติเหตุทำให้ขาเดินไม่ได้ และเกรงว่าจะไปเป็นภาระแก่คนรอบข้างจึงไม่อยากออกมาพบปะผู้คน ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน จนถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตาย กระทั่งได้อ่านข่าวว่าทาง มจธ.เปิดรับสมัครคนพิการเข้าโครงการฝึกอบรมฝึกงานฯ จึงได้มาสมัครเข้าร่วม เนื่องจากบ้านอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัย และจากที่เข้าร่วมโครงการฯ กับทางมจธ.ได้รับความรู้ได้ทักษะเพิ่มโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ได้นำความรู้มาใช้กับงานที่ทำ
"ดีใจที่ได้รับคัดเลือกจากบริษัทให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง บรรยากาศในที่ทำงานดีมาก เพื่อนร่วมงานก็ไม่ได้มองเราว่าเป็นคนพิการ ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงอบรมก็ได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวด้วยทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและที่ทำงานได้ดีขึ้น ถือเป็นการได้รับโอกาสจากบริษัท ที่เอื้ออาทรให้คนพิการอย่างพวกเราได้มีงานทำและที่สำคัญต้องขอขอบคุณ มจธ.ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้ให้กับคนพิการ ทำให้คนพิการรู้สึกมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคม ทำให้ชีวิตมีกำลังใจมากขึ้น"
ขณะที่ นายสุริยา วงศ์วันศรี อายุ 43 ปี จากสกลนคร ถูกตัดขาซ้ายใต้เข่าเพราะกระดูกติดเชื้อมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านช่วยงานที่บ้านเล็กๆน้อยๆ แต่ถึงกระนั้นสุริยาเองก็มีความต้องการทำงานเพื่อหารายได้ สุริยา เล่าว่า " มีความตั้งใจว่าจะต้องมาสมัครเข้าโครงการนี้หลังจากที่พลาดโอกาสเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ กับ มจธ.ไว้ล่วงหน้า เพราะอยากทำงาน และมองแล้วว่าโครงการที่ มจธ.จัดขึ้นมีประโยชน์กับทุกคนที่มาอบรมโดยเฉพาะด้านวิชาชีพเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานทำให้ได้เรียนรู้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงได้ พอเมื่อเราอบรมเสร็จก็ได้เข้าไปฝึกงานในสถานที่จริงและหากฝึกงานผ่านก็จะได้รับเข้าทำงานเราก็จะมีรายได้เป็นของตัวเองรู้สึกดีใจมาก จึงอยากให้เพื่อนๆผู้พิการมาเข้าร่วมโครงการนี้กันมากๆ อย่าคิดว่าคนพิการไม่มีศักยภาพที่จะทำงานอะไรได้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากทำให้เราได้พัฒนาศักยภาพ ทำให้เรามีความมั่นใจ ทำให้เรามีงานทำและมีรายได้แทนที่จะคอยให้ครอบครัวมาดูแลเราอย่างเดียว"
โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการนี้ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 6 เดือน แบ่งเป็นช่วงฝึกอบรมทักษะความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ 4 เดือน และฝึกงานในสถานประกอบการ 2 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรมจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด, บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด, บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีคนพิการที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมฝึกงานแล้วทั้งสิ้น 75 คน โดยมหาวิทยาลัยได้มอบใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรรับรองจากโครงการฯ ซึ่งคนพิการสามารถนำไปยื่นสมัครงานกับสถานประกอบการได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit