นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปีนี้ ได้เข้าไปเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน SmartRail Asia& Transport Infrastructure Asia 2016 วันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 ณ สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต ลิงค์ มักกะสัน ซึ่งถือเป็นงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีรถไฟและระบบรางใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในงานรวบรวมผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านรถไฟ ผู้ผลิตต่างประเทศ ชั้นนำทั้งจากยุโรป อเมริกา, เอเชีย มาจัดแสดงเทคโนโลยี ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานงานระบบรางควบคู่กัน ตลอดจนมีการพบปะหารือระดับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา อินเดียไต้หวัน เพื่อผลักดันเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนากลุ่มรถไฟในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน และงานนี้มีการเปิดตัว TransportInfrastructure Asia 2016 ด้วย
สำหรับการรถไฟไทยในงานนี้ จะร่วมกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องจัดแสดงศักยภาพแผนการขนส่งทางระบบรางของประเทศไทย และการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคสู่สายตาชาวต่างชาติ จึงขอเชิญชวนเข้าร่วมงานเพื่อเป็นสักขีพยาน ในการแสดงความพร้อมของไทยในการก้าวสู่ยุคใหม่ แห่งการขนส่งทางรางในอนาคตร่วมกัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร การขนส่งสินค้าเข้าออกประเทศจำนวนมหาศาล ไทยพลิกโฉมหน้าระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ครั้งใหญ่ พัฒนาการขนส่งระบบ ถูกบรรจุเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวก เชื่อมต่อการขนส่งภายในเมือง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ตลอดจนไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ สนับสนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้มีโครงการสำคัญ มีโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตรจากปัจจุบันถึงปี 2565 และจะมีการลงทุนเส้นทางเดี่ยวเป็นทางคู่ถึง 14 โครงการ ขยายโครงข่ายทางรถไฟให้มีระบบทางคู่เพิ่มจาก 357กม. เป็น 3,994 กม. ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิการขนส่ง ไม่ต้องเสียเวลาในการรอสับหลีกทาง รวมถึงจะมีการพัฒนาจุดตัดเสมอทางรถไฟกับถนนให้มีความสะดวกและปลอดภัยควบคู่ไปด้วยกัน
สำหรับแผนระยะแรกในปี 2559 การรถไฟฯ มีการเดินหน้าลงทุนตามแผนระยะเร่งด่วนของรัฐบาลก่อน 7 โครงการซึ่งขณะนี้เปิดประมูล และเริ่มก่อสร้างได้แล้ว 2โครงการ คือ โครงการฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. และโครงการจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. คาดจะแล้วเสร็จในปี 2561-2562ส่วนอีก 5 เส้นทางที่เหลือ มีการเปิดประมูลภายในปีนี้ คือ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร เส้นทางมาบกระเบา-ชุมทางถนน จิระ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน และเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ขณะที่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อาจเปิดประมูลได้อย่างช้าไม่เกินต้นปี 2561ระยะถัดมา การรถไฟฯ มีแผนลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ระยะสองเพิ่มอีก 7 โครงการ ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานีเส้นทางสุราษฎร์ธานี-สงขลา เส้นทาง หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และเส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ โดยแผนงานลงทุนทุกโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2564
ในแผนการพัฒนารถไฟระหว่างเมือง การรถไฟฯ ยังมีการผลักดันโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) อีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง โดยทั้ง 2 โครงการนี้ รัฐบาลมีแผนเปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ในลักษณะพีพีพี ฟาสต์แทรกคาดว่าจะมีการเปิดประมูลได้ภายในปี2560 เพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวรวมถึงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกของประเทศ ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้เข้าไปสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-นครราชสีมาอีกด้วย
นอกจากการพัฒนาโครงการรถไฟระหว่างเมืองแล้ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางภายในเมืองหลวง การรถไฟฯ ยังได้ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ–รังสิต จังหวัดปทุมธานีประกอบด้วย 8 สถานี ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าไปคาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2562 ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้ดำเนินโครงการจัดหารถจักร รถโดยสาร โบกี้บรรทุกสินค้ารุ่นใหม่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนระบบรางที่เกิดขึ้น โดยล่าสุดได้มีการรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า วิ่งความเร็วสูงสุด100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 20 คัน สำหรับมอบครบทั้งหมดภายในปลายปีนี้ เพื่อนนำไปใช้ร่วมกับรถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คัน ที่เพิ่งจัดหามาใหม่ในการให้บริการขนส่งสินค้า
ส่วนแผนการจัดหารถจักร และรถโดยสารในอนาคต การรถไฟฯ ยังมีแผนอีก 3 โครงการ ประกอบด้วย การจัดซื้อรถโดยสารดีเซลราง 186 คัน คาดเริ่มประกวดราคาได้ปี 2560 การเปิดประกวดราคาซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักเพลา 16 ตันต่อเพลา อีก50 คัน และอีกโครงการเป็นการเช่าหัวรถจักร 20คัน เพื่อนำไปใช้บริการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจากโครงการเหล่านี้จะทำให้การรถไฟมีจำนวนรถให้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 200 คัน เพียงพอต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ถูกลง จากปัจจุบัน 14% เหลือไม่ถึง 10%
มร.เดวิด อิ๊ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซ์ซิบิชั่น เซอร์วิสเซส จำกัดเปิดเผย ถึงการจัดงาน SmartRail Asia & Transport Infrastructure Asia 2016 ในปีนี้ว่า จะเป็นการจัดงานร่วมกับระหว่าง บริษัท เอเชีย เอ็กซ์ซิบิชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัท โกลบอล ทรานสปอร์ต ฟอรั่ม จำกัด ประเทศอังกฤษ และได้รับการสนับสนุนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพร่วม ถือเป็นงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีรถไฟ และรถไฟใต้ดิน ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ท ลิงค์ มักกะสัน ในงานจะรวบรวมผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านรถไฟ รถไฟใต้ดิน ผู้รับเหมา ระบบราง ผู้ให้บริการระบบรถไฟ ระบบไอที การสื่อสาร สัญญาณ โรลลิ้งสต็อกสินค้า ฯลฯ ผู้ผลิตต่างประเทศ ชั้นนำทั้งจากยุโรป อเมริกา,เอเชีย มาจัดแสดงในงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมงานและตัวแทนจำหน่ายถึง 122 บริษัท จาก24 ประเทศทั่วโลก เช่น บอมบาร์ดิเอร์, มิตซูบิชิ, ซีเมนส์, อิตาเลียนไทย, ซูมิโตโม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, เจแปน อิส เรลเวย์ ชไนเดอร์, กลุ่มพาวิเลียน จาก สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เป็นต้น
มร.เดวิด อิ๊ทคิ่น กล่าวต่อว่า สำหรับงาน SmartRail Asia & Transport Infrastructure Asia 2016 ในปีนี้ได้มีการปรับรูปแบบใหม่ ด้วยการเปิดตัว Transport Infrastructure Asia 2016 งานแสดงเทคโนโลยี ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานงานรถไฟอย่างครบวงจร จัดควบคู่กัน ถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญมากและเกี่ยวโยงโดยตรง อันเนื่องมาจากเป็นการรวมกลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่และ ซัพพลายเออร์ มาร่วมแสดงอย่างเต็มรูปแบบครบวงจรของอุตสาหกรรมรถไฟ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในวงกว้าง ทั้งนี้ในปี 2015 มีบริษัทที่ร่วมงานในส่วนของ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ ชิโนไทย, อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเม้ท์ ช.การช่าง, เอบีบี, ฮิตาชิ, มิตซูบิชิ, ซูมิโตโม, อารับ และ มอท แมคโดนัดล์ เป็นต้น ส่วนบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ ประกอบด้วย ทาดาโน, ทาทาสตีล, อีซูซุ, แพนดรอล, เจซีบี, ซานี่, QWQC, แมกเครน, China Railway Shanhiguan Jinzhou Railway Maintenance เป็นต้น
ทั้งนี้ในงานได้จัดให้มีการประชุมหัวข้อต่างๆควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการ โดยได้รวบรวมผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อหารือเกี่ยวกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดและมั่นใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มรถไฟในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย, รฟม, Land Transport Authority of Singapore, SMRT, Prasarana Malaysia Behad, Manila Metro, Malaysian Express Rail Link, Indian Railways, Cambodia Railways, Indian Ministry of Railways, ARL,BTS,Ministry of Transporation and Communication of Taiwan, Mumbai metro เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่ สมาร์ทเรล เอเชีย 2016 ได้จัดขึ้นสำหรับวีไอพีและผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า ก่อนงาน โดยจัดการเยี่ยมชมโครงการจริงของงานโครงสร้างพื้นฐานล่าสุดของการรถไฟฟ้า โดยเยี่ยมชมผู้ประกอบการเข้าร่วมงานและแขกวีไอพี ที่มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานสัมมนา ในการนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญของโครงการชั้นนำของภูมิภาค เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยน การพัฒนาในโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากประเทศจีนมาสู่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านไปยังสิงคโปร์ และเส้นทางจากเวียดนามมากรุงเทพฯ และยังมีโครงการขยายรถไฟใต้ดินสายต่างๆในเมืองอีกด้วย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit