Teak Seng ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า "เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่วัฒนธรรมและในแง่สิ่งแวดล้อม แต่จากภัยคุกคามต่างๆ ในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่าเสือโคร่งอาจสูญพันธุ์ไปจากภูมิภาคนี้ได้ โดยขณะนี้ WWF ได้ทำงานมาถึงครึ่งทางของแผนการอนุรักษ์ที่วางไว้แล้ว ซึ่งเรื่องด่วนที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะเราไม่อาจยอมให้สัตว์นักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารสูญพันธุ์จากภูมิภาคนี้ไปในท้ายที่สุด"
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์เสือโคร่งในประเทศต่างๆ พบว่า เสือโคร่งได้สูญหายไปจากประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาแล้ว ขณะเดียวกันจำนวนเสือโคร่งในประเทศลาวก็ลดจำนวนลงอย่างมาก ส่วนในประเทศพม่า แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานตัวเลขที่แน่นอนแต่ก็คาดกันว่า ปริมาณเสือโคร่งตามธรรมชาติจะมีจำนวนลดลง สำหรับประเทศไทย พื้นที่ป่าแม่วงก์ถือเป็นความหวังสำคัญต่อการอยู่รอดของเสือโคร่งในภูมิภาค เพราะแม้ว่าจำนวนเสือโคร่งที่พบจะมีจำนวนเพียงแค่ 200 ตัว ทว่าพื้นที่ป่ายังคงมีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก โดยความเสี่ยงในตอนนี้คือ หากมีการรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนกลับขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่ของเสือและสัตว์อื่นๆ จากการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ทว่า ยังคงมีสัญญาณของความหวังอยู่เช่นกัน จากการสำรวจจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลก พบว่า สถานการณ์ในประเทศอินเดีย รัสเซีย เนปาล และภูฏาน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ดีขึ้น การริเริ่มความร่วมมือข้ามพรมแดน การให้การรับรองว่าจะไม่มีการบุกรุกและลักลอบค้าเสือ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มมากขึ้นถึง 3,890 ตัว จากเดิมที่เคยสำรวจพบเมื่อ 6 ปีที่แล้ว 3,200 ตัว จากทั่วโลก
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในประเทศไทย ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่งช่วยให้จำนวนเสือโคร่งตามธรรมชาติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากทุกประเทศสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับประเทศของตนเองได้ ก็เป็นหลักประกันที่ดีได้ว่าเสือโคร่งจะไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในอนาคต
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศลาวได้ประกาศปิดฟาร์มเสือหลายแห่งทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศไทย ก็มีการสืบสวนฟาร์มเสือหลายแห่งในประเทศ ซึ่งเป็นการขยายผลต่อเนื่องหลังจากค้นพบการลักลอบค้าขายอวัยวะเสือผิดกฎหมายที่วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) ในจังหวัดกาญจนบุรี เช่นเดียวกัน ส่วนรัฐบาลเวียดนามก็ได้เพิ่มมาตรการลงโทษที่รุนแรงมากขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าอวัยวะเสือ ทั้งนี้ จากรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับการจับกุมการค้าเสือโคร่ง ในภูมิภาคเอเชียระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2558 พบว่า 30% ของเสือที่ค้าขายกันถูกส่งมาจากฟาร์มเลี้ยงเสือ
ส่วนประเทศกัมพูชา ก็มีแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือเสือโคร่งและมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่ต่อต้านการลักลอบซื้อขายอวัยวะของเสือโคร่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลกัมพูชา ที่แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการฟื้นฟูการอนุรักษ์เสือโคร่ง และยังช่วยรับประกันว่าพื้นที่ป่าแถบตะวันออกจะได้รับการปกป้องจากการบุกรุกในระยะยาว
สำหรับเรื่องแผนการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ WWF หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนการดังกล่าวจะไม่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไทย – รัฐบาลพม่า มีความจำเป็นต้องสร้างถนนผ่านพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี – ดาวนา WWF ขอเสนอแนวทางที่จะสร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเสือโคร่งในพื้นที่ให้น้อยที่สุด เช่น การสร้างทางข้ามสำหรับสัตว์ป่า การเปลี่ยนการออกแบบและระบบเรียกเก็บเงินค่าผ่านทาง เพื่อนำรายได้ที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และเพื่อชุมชุนในพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา WWF ได้มีบทบาทในการทำงานร่วมกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ ตลอดทั้งภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการปิดตลาดค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพื่อลดจำนวนการล่า และการบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อาทิ เสือ แรด และ ช้าง
"งานขั้นต่อไปของเราคือ เราต้องการให้รัฐบาลของทุกประเทศผนวกงานอนุรักษ์เสือโคร่งและการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งเข้าไปในแผนการพัฒนาด้วย เรายังมีความหวังว่าจำนวนเสือโคร่งในพื้นที่จะเพิ่มขึ้น ถ้าทุกประเทศมีแผนการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรมควบคู่ไปกับแผนการพัฒนา เพราะหากปราศจากเสือโคร่งในระบบนิเวศ ก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอื่นๆ และมนุษย์ในท้ายที่สุด" คุณ Teak Seng ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวทิ้งท้าย
ดาวน์โหลดรายงาน หนทาง: สู่เส้นทางการอนุรักษ์เสือโคร่งท่ามกลางกระแสการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความพยายามที่ผ่านมาในช่วงครึ่งทางแรก ของแผนการทำงานระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2565 เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาติให้มากขึ้นเป็นสองเท่า โดยความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้คือ เผยให้เห็นถึงเครือข่ายการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานข้ามทวีปขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit