รัฐมนตรีเกษตรฯ เยือนเกาหลีใต้ ร่วมเป็น 1 ใน 7 ประเทศถกเวทีระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียแก้ไอยูยู และการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ย้ำจุดยืนเป็นผู้นำในการจัดทำ “นโยบายประมงร่วมอาเซียน”

30 Nov 2016
เร่งยกระดับประมง : พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาไอยูยูระดับภูมิภาค โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากภูมิภาคเอเชีย รวม 7 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา ศรีลังกา และสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชนร่วมประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐในภูมิภาคเอเชีย และองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางการขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรด้านประมงอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมเวสอิน โชซัน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
รัฐมนตรีเกษตรฯ เยือนเกาหลีใต้ ร่วมเป็น 1 ใน 7 ประเทศถกเวทีระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียแก้ไอยูยู และการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ย้ำจุดยืนเป็นผู้นำในการจัดทำ “นโยบายประมงร่วมอาเซียน”

รัฐมนตรีเกษตรฯ เยือนเกาหลีใต้ ร่วมเป็น 1 ใน 7 ประเทศถกเวทีระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียแก้ไอยูยู และการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ย้ำจุดยืนเป็นผู้นำในการจัดทำ "นโยบายประมงร่วมอาเซียน" มุ่งเป้ามีการทำประมงยั่งยืนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2562

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมประชุมระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาไอยูยูระดับภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงมหาสมุทรและการประมง สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับหน่วยงานเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) กลุ่มสิทธิมนุษยชนของอังกฤษ และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกันจัดขึ้น ณ โรงแรมเวสอิน โชซัน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่ผู้จัดงานได้เชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูง จากภูมิภาคเอเชีย รวม 7 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา ศรีลังกา และสาธารณรัฐเกาหลี (เจ้าภาพ) รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชนร่วมประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐในภูมิภาคเอเชีย และองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางการขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรด้านประมงอย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากเวทีนี้ในการแสดงถึงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นหนึ่งในประเทศที่กำหนดนโยบายการจัดการความยั่งยืนของทะเลและทรัพยากรประมง ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการประมงของไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานในภาคการประมงเป็นวาระแห่งชาติที่ได้เร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่นับว่าเป็นการปฏิรูปการประมงจากที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบและในภาคการประมง ซึ่งสถานการณ์การค้ามนุษย์ "ทิพ รีพอร์ท" ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศปรับสถานะประเทศไทยขณะนี้อยู่ใน "เทียร์ ทู วอชลิสต์" (Tier 2 Watch List)

อย่างไรก็ตาม การจัดการทรัพยากรทางทะเลไม่สามารถกระทำให้สำเร็จได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งกับมิตรประเทศในภูมิภาค ประเทศคู่ค้า และองค์การระหว่างประเทศ อาทิ อีเจเอฟ, กรีนพีซ, ไอแอลโอ, และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประชาคมอาเซียน ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตอาหารและสินค้าประมงที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงควรมีการบริหารจัดการทรัพยากรในมิติต่างๆ ในทิศทางเดียวกัน ตามที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ "อา-มาฟ" (AMAF) ครั้งที่ 38 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนกันยายน 2016 ว่าประชาคมอาเซียน ควรกำหนดนโยบายประมงร่วมกัน เพื่อกำหนดเป้าหมาย และแผนเป็นขั้นตอน โดยในปี 2560 ไทยจะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนชาวประมงจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประมาณเดือนมีนาคม 2560 พร้อมทั้งการประชุมวิชาการด้านการบริหารทรัพยากรประมง ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลก ประมาณเดือนกรกฎาคม 2017 เพื่อประชาคมอาเซียนจะสามารถนำผลที่ได้จากการประชุมทั้ง 2 ครั้ง จากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อันรวมถึงผู้ประกอบการประมงทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในทุกระดับการผลิต มาประกอบการร่างนโยบายประมงร่วมกัน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ทุกประเทศและทุกภาคส่วนในประชาคมอาเซียนก้าวเดินไปด้วยกัน

"การประชุมในระดับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนในครั้งนี้จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการ และหวังว่าประชาคมอาเซียนจะร่วมกันผลักดันจุดยืนการทำประมงอย่างยั่งยืนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2562 และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันในการจัดทำ "นโยบายประมงร่วมอาเซียน" โดยแสวงหาร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิก องค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศ และพันธมิตรจากทั่วโลก และจะนำผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อกำหนดนโยบายประมงสู่ความยั่งยืนต่อไป" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว