นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ และสามารถแพร่ติดต่อได้ โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ผู้ติดเชื้อจะมีไข้ มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ โดยปกติจะหายภายใน 2-7 วัน สามารถรักษาได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล แต่หากมีอาการป่วยรุนแรง หรือเป็นหญิงมีครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กในครรภ์มีความผิดปกติได้ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดทันที
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารพร้อมรับทราบวิธีการป้องกันตนเองและอย่าตื่นตระหนก สำหรับมาตรการที่ทุกคนทำได้และได้ผลดี คือ การไม่ให้ยุงเกิด โดยการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตามมาตรการ 3 เก็บ คือ "เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ" เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ร่วมกับกิจกรรม 5 ส. และให้ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยนอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายาหรือโลชั่นกันยุง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit