นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์พายุราอี ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2559 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตร จำนวน 25 จังหวัด แบ่งเป็น ด้านพืช ส่งผลกระทบ 21 จังหวัด พื้นที่ 569,389 ไร่ ด้านประมง ส่งผลกระทบในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2,854 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ส่งผลกระทบ 12 จังหวัด สัตว์ได้รับผลกระทบ 392,807 ตัว โดยทั้ง 3 ด้านอยู่ในระหว่างการสำรวจ และหากมีความเสียหายอย่างสิ้นเชิงก็จะมีการดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ได้มีการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น อาทิ การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 64 เครื่อง ในพื้นที่ 7 จังหวัด การอพยพสัตว์ จำนวน 27,659 ตัว ในพื้นที่ 6 จังหวัด และการสนับสนุน ยา-เวชภัณฑ์ จำนวน 28,897 ซอง ในพื้นที่ 8 จังหวัด
ทั้งนี้ ในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ได้มีการเตรียมการและดำเนินการทันทีหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศ โดยได้มีการประชุมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้วางแผนการปรับเปลี่ยนฤดูกาลผลิต โดยเฉพาะข้าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากที่มีปริมาณฝนมากในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ (5 ตุลาคม 2559) ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสูงขึ้นใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนรัชชประภา โดยเขื่อนป่าสักฯ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีการพร่องน้ำก็จะเต็มเขื่อนภายในไม่กี่วัน ขณะที่การพร่องน้ำที่เขื่อนพระราม 6 ก่อนไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องไม่เกิน 600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้อยู่ในปริมาณ 536 ล้าน ลบ.ม. จึงอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวมในช่วงปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะยังคงมีปริมาณฝนตามคำคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยบริเวณที่มีปริมาณฝนมากและอาจส่งผลกระทบ คือ ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท รวมทั้งส่งผลให้บางลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำสะแกกรัง มีน้ำเพิ่มเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้ามาไม่ถึง 50 ลบ.ม./วินาที แต่ขณะนี้ปริมาณมากกว่า 100 ลบ.ม./วินาที โดยอาจจะมีปริมาณน้ำสูงสุดในอีก 3 วันข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้มีการควบคุมระดับปริมาณน้ำที่เข้าเขื่อนจะต้องไม่เกิน 2,500 ล้าน ลบ.ม. เช่น เขื่อนเจ้าพระยา หากปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ต้องไม่ให้เกิน 2,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 1,853 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้บริเวณที่อยู่นอกคันน้ำค่อนข้างเต็ม กรมชลประทานจึงได้ทำการระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันตก ที่แม่น้ำน้อย แม่น้ำมะขามเฒ่า และแม่น้ำท่าจีน อย่างไรก็ตาม บริเวณแม่น้ำท่าจีนมีลักษณะเป็นคอขวดที่บริเวณ ต.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ทำให้น้ำระบายได้ไม่มากนัก เมื่อปล่อยน้ำเข้าไปจะอั้นบริเวณดังกล่าว โดยกรมชลประทานได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำและจะไม่ปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร โดยจะรอให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2559
ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำในขณะนี้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ และมีแนวโน้มที่ลดลง แต่หากเกิดสถานการณ์วิกฤติ เช่น มีปริมาณฝนตกมากในบางพื้นที่ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำ โดยการควบคุมน้ำท้ายเขื่อนให้อยู่ระดับไม่เกิน 2,000 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำไปทางตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวพืชผลได้หมด และไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะสิ้นฤดูฝนแล้ว โดยกรมชลประทานได้มีการพร่องน้ำเอาไว้ในบริเวณฝั่งตะวันตกตอนล่าง และทดลองสูบน้ำออก อย่างไรก็ตาม หากปริมาณฝนอยู่ในระดับ 60-90 มิลลิเมตร ก็สามารถควบคุมได้ แต่หากมากกว่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นหย่อมๆ ซึ่งกรมชลประทานได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำเตรียมไว้แล้ว