แพทย์สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชี้! ควรมีการบรรจุวัคซีนโรตา ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กไทย

07 Oct 2016
แพทย์สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชี้! ควรมีการบรรจุวัคซีนโรตาป้องกันโรคท้องร่วงในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กไทย แต่ยังกังวลถึงความล่าช้าของระบบและกระบวนการพิจารณา ในขณะที่ยังคงเดินหน้าจัด"การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียปี 2016" เผย! เวทีนี้มีการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนจำเป็นในการป้องกันโรคแก่เด็กไทยด้วย
แพทย์สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชี้! ควรมีการบรรจุวัคซีนโรตา ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กไทย

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยกล่าวว่าโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา เป็นโรคติดเชื้อในเด็กชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุด โดยที่เด็ก 1 ใน 2 คนที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่นำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล จะมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรตา สำหรับประเทศไทยมีเด็กติดเชื้อไวรัสโรตา 586,000 ครั้งต่อปี เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล 131,000 ครั้งต่อปี และเข้ารับการรักษาตัวนอนในโรงพยาบาลประมาณ 56,000 ครั้งต่อปี (ข้อมูลปีพ.ศ.2557)

เด็กที่ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโรตามักมีไข้ ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายบ่อย และเมื่อเด็กถ่ายมากๆจนขาดน้ำ อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง จนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ยังไม่มียาเฉพาะเพื่อรักษาเชื้อตัวนี้ การปกป้องเด็กจากโรคติดเชื้อไวรัสโรตา ด้วยการรักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้านและบริเวณที่ลูกชอบไปเล่น รวมถึงของเล่นต่างๆ และการล้างมือให้ลูกบ่อยๆ สามารถป้องกันโรคได้เพียงบางส่วนเท่านั้น การให้วัคซีนป้องกันไวรัสโรตาเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็ก จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้สะดวก สามารถลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ซึ่งหลายสิบประเทศทั่วโลกนำวัคซีนนี้มาใช้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแล้ว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี ยังกล่าวอีกว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโรตาถือเป็นหนึ่งในวัคซีนจำเป็นในการป้องกันโรคที่ประชากรเด็กควรได้รับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่างเห็นด้วยว่าควรจะมีการบรรจุในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อจัดสรรให้เด็กไทยทุกคนได้รับอย่างทั่วถึง เท่าเทียมโดยไม่ต้องหาซื้อเอง แต่ยังกังวลถึงความล่าช้าของระบบและกระบวนการพิจารณาบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสโรตาเข้าสู่แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของเด็กไทย ซึ่งมีหลายขั้นตอนและต้องผ่านการประเมินความคุ้มค่าเบื้องต้นและการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีการศึกษานำร่อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยต้องใช้เวลานานเป็นปีๆซึ่งได้ดำเนินงานในหลายจังหวัดในประเทศไทยแล้ว และต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ก่อนจะนำเสนอให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหา หากสามารถนำวัคซีนโรตาเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการป้องกันเด็กไทยจากโรคอุจจาระร่วงรุนแรง และช่วยให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดีด้วยด้านศ.พญ.อุษา ทิสยากรเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียและประธานการประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียกล่าวว่าสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กด้วยวัคซีน เนื่องจากวัคซีนเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้องเด็กจากโรคติดเชื้อต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการลงทุนระยะยาวทางด้านสุขภาพให้แก่พลเมืองของประเทศที่คุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันความเจ็บป่วยหรือพิการอันเกิดจากโรคต่างๆได้ ซึ่ง"การประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ปี 2016" ( Asian Congress of Pediatric Infectious Diseases (ACPID 2016) ที่จะจัดขึ้นเร็วๆนี้ ภายใต้แนวคิด"Working Together to Safeguard Children" "รวมพลังเพื่อปกป้องเด็ก" จะมีการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนจำเป็นในการป้องกันโรคแก่เด็กไทยด้วย เพื่อให้แพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และนักศึกษาจากสถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนวิชาชีพต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ทางวิชาการร่วมกันกับนักวิชาการต่างประเทศ เพื่อนำเสนอแนวทางการป้องกัน ดูแลรักษาที่ช่วยลดและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีประสิทธิภาพสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ซึ่งจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อจากทั่วโลกมาร่วมประชุมจำนวนมาก มีทั้งผู้ที่มาร่วมบรรยายและร่วมประชุม มีกิจกรรมวิชาการ ทั้งการแสดงปาฐกถา การบรรยายวิชาการ การสัมมนา และการเสนอผลงานวิชาการ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะแสดงให้เวทีโลกเห็นว่าเรามีศักยภาพ เราสามารถจัดงานประชุมที่ได้มาตรฐานระดับโลก และเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เสนอผลงานวิจัยเพื่อให้นานาชาติได้เห็น ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการส่งเสริมและการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการด้านโรคติดเชื้อในเด็กในเวทีวิชาการระดับโลก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกไม่เฉพาะประเทศไทยหรือในเอเชียเท่านั้น นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วในด้านวิชาการก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้ารวมประชุมจะได้รับความรู้ใหม่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อในเด็ก โดยไม่ต้องเดินทางไปยังต่างประเทศโดยงานนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และมี pre-congress เรื่อง Severe Dengue ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซ.ศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร.0 2716 6534 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.acpid2016.com

ศ.นพ.ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะมี pre-congress เรื่อง Severe Dengue ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 เป็นเรื่องเด่นที่ควรติดตามโดยจะมีการจัดอบรมระยะสั้นเรื่องโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้รับการอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ครอบคลุมเนื้อหาที่ควรทราบเกี่ยวกับการสืบค้นโรค การวินิจฉัย อาการทางคลินิก และการรักษา สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันความรู้เรื่องการติดเชื้อไวรัสเดงกี ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงมีการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคด้วย

นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่องเวชศาสตร์การเดินทางสำหรับเด็ก วัยรุ่น เพื่อให้แพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเข้าใจในการเจ็บป่วยและการติดเชื้อที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นในขณะเด็กที่เดินทางไปในต่างประเทศ และการให้การป้องกันและดูแลรักษาความเจ็บป่วยและการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในขณะเดินทาง เช่น การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง การให้วัคซีนป้องกันโรค เช่นไข้สมองอักเสบ และโรคพิษสุนัขบ้า การเรียนรู้วิธีการป้องกันและการดูแลเมื่อถูกสุนัขกัด หรือ ถูกสัตว์มีพิษกัด งูกัด นำไปสู่ความปลอดภัยต่อสุขภาพของเด็กที่เดินทางและไม่ให้เกิดการนำเชื้อโรคแพร่ไปในที่ต่างๆ