การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2559
1) การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี2559 เป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกและผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศจากประเทศสมาชิก 189 ประเทศทั่วโลก โดยประธานธนาคารโลก นาย Jim Yong Kim และกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นาง Christine Lagarde จะกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวนโยบายและแผนการดำเนินงาน ที่สำคัญของทั้ง 2 องค์กรที่จะรองรับความท้าทายต่าง ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค รวมถึงการดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่าง ๆ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะมีสุนทรพจน์ถึงภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของไทย รวมถึงมุมมองของประเทศไทยต่อบทบาทของทั้ง 2 องค์กรด้วย
2) การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 94 (94th Development Committee Meeting) เป็นการประชุมผู้ว่าการธนาคารโลก เพื่อพิจารณาแนวนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยวาระการประชุมในครั้งนี้จะเน้นเรื่องวิสัยทัศน์ของธนาคารโลกเพื่อรองรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 (2030 Sustainable Development Goals: SDGs)
3) การประชุมร่วมของผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF-WB Governors Joint Meeting of the South East Asia Voting Group) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ว่าการของไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินงานและพิจารณามอบหมายแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคตของสำนักงานกรรมการบริหารประจำกลุ่มออกเสียงฯ
4) นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดร่วมอภิปรายในการเสวนา "Borrow without Sorrow" ซึ่งจะเป็นการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับนาย Mauricio Cardenas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสินเชื่อภาครัฐสาธารณรัฐโคลอมเบีย นาย Pravin Gordhan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแอฟริกาใต้ นาย Moritz Kraemer เจ้าหน้าที่ Global Chief Ratings Officer Sovereigns บริษัท สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (S&P) และนางสาว Liliana Rojas Suarez เจ้าหน้าที่อาวุโส ศูนย์การพัฒนาโลก (Center for Global Development) เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์นโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงด้านหนี้สาธารณะของประเทศภายใต้สถานการณ์ที่มีการเรียกร้องให้นโยบายการคลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 23
5) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 23 เป็นการประชุมร่วมกันประจำปีของสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุมด้วย
6) แนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การเสริมสร้างนโยบายภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเชื่อมโยงและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น (Strengthening Public Policy for an Integrated and Resilient Asia-Pacific Region) โดยจะมีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกและภูมิภาค (2)แนวทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ (3) แนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานของกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี2559 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 23 ข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดจะร่วมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาคมโลกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทย ตลอดจนแนวนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะแถลงข่าวผลการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประจำปี 2559 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 23 ให้ทราบต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit