พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเด็นปัญหาน้ำ ทั้งวิกฤตภัยแล้ง และอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ยังคงเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน อันสืบเนื่องมาจากการขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน แหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ และแหล่งระบายน้ำถูกบุกรุกและขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้ไม่สามารถเก็บกัก ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมามีการเน้นในเรื่องการจัดหาและพัฒนาเพื่อสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก โดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การนำน้ำขึ้นมาใช้เกินศักยภาพของทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ การใช้พื้นที่ชุ่มน้ำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และระบบนิเวศ รวมถึงการขาดการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ด้วยปัญหาดังกล่าว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อการใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาและบริหารจัดการโดยผ่านกลไกต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการจัดให้มีระบบคลังเครื่องมือเพื่องานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558 – 2569) และมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวไปปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ
"สำหรับการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ในครั้งนี้ จะสามารถเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำและตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เนื่องจากผ่านกระบวนการรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้พัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐให้มีข้อมูลหรือแนวทางที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) พ.ศ. 2556-2561 ในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ในประเด็นหลักที่ 21 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ พัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ (Flagship Project) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายมีแหล่งน้ำที่มีการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนา เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มีปริมาณเพียงพอ รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบริหารจัดการน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญของกระทรวงฯ คือ การสร้างกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นฐานในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำ บูรณาการน้ำผิวดิน ใต้ดิน และกำหนดมาตรฐานพัฒนาระบบน้ำสะอาด โดยจากทั้งยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานของกระทรวงฯ รวมถึงโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมฯ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะสามารถนำมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป" พลเอก สุรศักดิ์ กล่าว
คุณสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล หรือ กพน. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับ สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ในการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ในการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์น้ำบาดาลฯ ในการพัฒนาและยกระดับการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งการควบคุม กำกับ ดูแล ทรัพยากรน้ำบาดาล และสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำ นโยบายและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ การวิเคราะห์ศักยภาพแหล่งน้ำ ปัญหาและความต้องการการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง เพื่อประกอบการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 14 จังหวัด โดยผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ คือ สามารถทำให้ทราบสถานการณ์และข้อมูลการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ และได้แนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
"การดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมกราคม 2561 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 18 เดือน โดยมีขอบเขตการดำเนินโครงการ คือ ศึกษา รวบรวมข้อมูล ทบทวนรายงานการศึกษา วิจัยยุทธศาสตร์ การพัฒนา แผนนโยบายที่เกี่ยวข้องของพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัด จัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาล โดยนำหลักการ 3 Rs (Reduce, Reuse , Recycle) มาร่วมประยุกต์ใช้ รวมถึงประชาสัมพันธ์และนำเสนอผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ" นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมให้สมาชิก ส.อ.ท. เป็นองค์กรที่ประกอบกิจการโดยยึดหลักการมีธรรมาภิบาลที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน จึงได้รณรงค์และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และให้ความสำคัญกับชุมชนรอบข้าง ซึ่ง ส.อ.ท. โดย สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ได้ดำเนินงานร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการใช้น้ำบาดาลในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทั้งด้านเทคนิค บุคลากร และงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ในการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการศึกษาการใช้น้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์น้ำบาดาล (กรณีศึกษา อุตสาหกรรมฟอกย้อมและอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ) เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างต้นแบบการใช้น้ำบาดาลที่มีประสิทธิภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยนำเทคโนโลยีสะอาด หลักการ 3Rs รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำบาดาล โครงการสร้างต้นแบบและขยายเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมฯ เพื่อสร้างต้นแบบและเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม ทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ
"ปัจจุบัน สถาบันน้ำฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบ บูรณาการและมีส่วนร่วม ในพื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัด ภาคกลาง ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – มกราคม 2561 ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบและถูกต้องตามหลักการ โดยให้ความสำคัญกับการนำหลักการ 3 Rs (Reduce Reuse Recycle) มาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป" นายบวร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม จะดำเนินโครงการทั้งในส่วนการจัดงานสัมมนาเปิดโครงการ เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการและเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาล โดยนำหลักการ 3 Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาร่วมประยุกต์ใช้ ในพื้นที่เป้าหมาย ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ การลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการจัดทำ Focus group เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (Water Forum) การนำเสนอผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วมต่อผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณา รวมถึงการประชาสัมพันธ์และนำเสนอผลการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit