รัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย สะท้อนได้จากรัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินรวมประมาณ ๑๓ ล้านล้านบาท (มูลค่าเท่ากับ GDP ของประเทศ) และมีงบลงทุนคิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาล และของกระทรวงเจ้าสังกัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรัฐวิสาหกิจ โดยจะต้องดำเนินการภายใต้กฎและระเบียบของผู้กำกับแลรายสาขา (Regulator) อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้แก่กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
(๑) กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องเป็นผู้ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ โดยการยกระดับความโปร่งใสในการบริการจัดการรัฐวิสาหกิจด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำกับและตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ประชาชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) นอกจากนี้ ขอให้กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างค่านิยมและจริยธรรมให้กับบุคลากรภายในองค์กรให้มีคุณธรรม สร้างความโปร่งใส ไม่ให้โกงและสร้างความเป็นเจ้าของ
(๒) ขอให้กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ซึ่งมีวงเงินลงทุนประมาณ ๕๒๐,๙๘๐ ล้านบาท ให้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้เลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front Load) โดยขอให้เน้นการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ ๑ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ให้มากขึ้น และขอให้เร่งรัดให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดที่ร้อยละ ๙๕ ของงบลงทุนอนุมัติ
(๓) ขอให้กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจผลักดันรัฐวิสาหกิจให้นำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพมาระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและช่วยให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(๔) การขับเคลื่อนประเทศโดยใช้กลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เช่น การให้กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจต้องเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) เพิ่มขึ้น หากมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้รีบดำเนินการเสนอสภานิติบัญญัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจในระยะยาว รัฐบาลได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... โดยหลักการสำคัญ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นคณะกรรมการภายใต้กฎหมาย และกำหนดให้แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการมีกลไกสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ โดยเปิดเผยข้อมูลการดำเนินนโยบายผ่านรัฐวิสาหกิจให้เกิดโปร่งใส (Transparency) และทำให้เกิดความรับผิดชอบ (Accountability) ในการดำเนินนโยบาย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี ๒๕๖๐ สคร. จะดำเนินงานในฐานะผู้ภือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder) พร้อมทั้งจะเพิ่มบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนแห่งความสำเร็จ (Active Partnership) โดย สคร. จะทำงานร่วมกับกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงต่อไป