นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสพฉ. กล่าวว่า สพฉ. และ ทีโอที ตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชน ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล ได้ร่วมมือรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมในการติดตั้งเครื่อง AED ในตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งติดตั้งในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดภาวะฉุกเฉินนอก สถานพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีประชาชน เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกลและมีผู้โดยสาร จำนวนมาก ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณผู้มาใช้บริการ 5,000 คนต่อวัน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ศูนย์กลางชุมชน สถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อพาร์ทเม้นท์ ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 50 คน โรงเรียน บริษัท โรงงาน และสถานที่ให้บริการที่มีคนพลุกพล่าน สถานบันเทิง โรงแรมหรือศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ และพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เกาะ ภูเขา นอกจากนี้สพฉ.จะเตรียมพร้อมในการติดตั้ง การฝึกอบรม การปฐมพยาบาล และการฝึกใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วม "โครงการโทรศัพท์ช่วยชีวิต" ในการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งมีให้บริการอยู่ทั่วประเทศมาสร้างประโยชน์เพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย อุบัติเหตุ หรือ ผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วทันที ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ทีโอที หวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ "โครงการโทรศัพท์ช่วยชีวิต" บรรลุเป้าหมายในการขยายพื้นที่โครงการฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นแหล่งชุมชนมีคนพลุกพล่านทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับความร่วมมือระหว่าง ทีโอที และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จะเป็นการดำเนินการร่วมกันในการเตรียมพร้อมการติดตั้ง AED ในตู้สาธารณะของ ทีโอที ซึ่งจะติดตั้งให้บริการทั้งโทรศัพท์สาธารณะและเครื่อง AED พร้อมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการหยุดวิกฤตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของคนไทยนอกสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.อนุชาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามหลักแล้วหากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการ สูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้นการช่วยชีวิต ขั้นพื้นฐานหรือที่เรียกว่า "CPR" จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น กระทันหันได้เป็นอย่างดี และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี ต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจ ด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึงร้อยละ 45 ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อุบัติเหตุ หรือ ผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เรามองเห็นว่าชีวิตทุกชีวิตมีค่าไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ความปลอดภัยและการ ช่วยเหลือทันท่วงทีมีความสำคัญที่สุด เราอยากรณรงค์ให้คนไทยทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ ชีวิตคนบนท้องถนน หรือ สถานที่ต่างๆ จึงได้เปิดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนไทยทุกคนเรียนรู้กับการช่วยเหลือ ชีวิตเบื้องต้นที่ถูกต้องและปลอดภัย
ทั้งนี้การบริการ "ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต" ด้วยการโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ฟรี เมื่อยกหูและกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว โดยภายในตู้โทรศัพท์จะมีเครื่องมือเบื้องต้นในการช่วยเหลือ อาทิ ชุด Frist aid, ชุด PPE และชุดเคลื่อนย้าย ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีจอทีวีฉายวีทีอาร์สอนการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น โดยการทำงานของตู้มาพร้อมกับ เทคโนโลยี ที่นำสมัย ทำให้ผู้แจ้งเหตุใช้งานง่าย และรวดเร็วมากขึ้น เมื่อมีการเปิดตู้ ระบบ AED จะส่งสัญญาณ แสงและเสียง พร้อมระบบ GPS ระบุสถานที่ของตู้จุดเกิดเหตุ หลังจากนั้นระบบบันทึกเสียงจะเริ่มทำงาน โดยอัตโนมัติ ผู้แจ้งเหตุสามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ทั้งภาพและเสียง นอกจากนี้ภายในตู้ยังมีเอกสาร แนะนำเบอร์ฉุกเฉินต่างๆอีกด้วย