เคล็ด(ไม่)ลับ 5 ส. สร้างสุขวัยเกษียณ

03 Oct 2016
สิ้นเดือนกันยายนในแต่ละปี ถือเป็นวันสุดท้ายในการทำงานของผู้ที่มีอายุ 60 ปี หรือที่เราเรียกกันว่า "วันเกษียณอายุ" และในปี 2559 นี้ ประเทศไทยจะมีประชากรที่ครบอายุ 60 ปี จำนวนสูงถึง 552,515 คน (ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งผู้เกษียณจำนวนมากมักพบกับปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพทางใจ จากการที่ขาดโอกาสในการใช้ความรู้ความสามารถจนอาจเลยไปถึงขั้นการไม่เหลือความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกตนเองด้อยค่ากลายเป็นความหดหู่ ความเครียดก่อให้เกิดเป็นปัญหาทางจิตและทางกายตามมา ซึ่งที่จริงแล้ว ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยากกับเคล็ด(ไม่)ลับ 5 ส. สร้างสุขวัยเกษียณ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุในช่วงวัยเกษียณนี้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
เคล็ด(ไม่)ลับ 5 ส. สร้างสุขวัยเกษียณ

ด้วยเหตุนี้ ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก จึงได้ออกแบบแนวทางการใช้ชีวิตใหม่หลังวันเกษียณขึ้น เรียกว่า "กิจกรรม 5 ส." เพื่อเป็นหนึ่งทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพกายและใจให้กับผู้สุงอายุวัยเกษียณนี้ โดยได้น้อมนำวิถีพุทธมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยได้วางกิจกรรมไว้เป็นแนวทางให้จากเช้าจรดเย็น (หรือจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลก็ได้) ซึ่งกิจกรรมทั้ง 5 ส. ได้แก่

1) ส. สงบ ยามอรุณรุ่ง

หลังตื่นนอน อาบน้ำทำธุระส่วนตัวจนสบายตัวดีแล้ว ให้รับวันใหม่ด้วยใจอันเป็นกุศล ด้วยการสวดมนต์ในบทที่เอื้อต่อความนุ่มนวล บทที่โน้มนำจิตให้เกิดความอิ่มเอิบ เช่น นะโม อิติปิโสฯ หรือพาหุงฯ สัก 15 นาที หรือใครที่ชอบสวดมนต์อยู่แล้วจะสวดบทอื่นเพิ่มเติมก็ได้ และหลังจากจิตสงบแล้ว ที่สำคัญให้พาตัวเองออกจากวังวนแห่งการจองเวร ด้วยการแผ่เมตตาและให้อภัยแก่ผู้ที่เคยทำไม่ดีต่อเรา คิดเสียว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะผูกโกรธกันต่อไป เดี๋ยวก็จากกันไปแล้ว โดยเริ่มจากการแผ่เมตตาให้คนใกล้ตัว เช่นพ่อแม่ คู่ชีวิต ลูกหลาน ไปสู่เพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน จากนั้นให้อภัยแก่คนที่เราไม่ชอบ ศัตรูคู่อาฆาตที่เคยทำอะไรไม่ดีกับเราไว้ก็อโหสิกรรมกันไป ในวันแรกๆ นั้นอาจจะยังให้อภัยได้ลำบาก ยังปล่อยความแค้นออกจากใจไม่ได้ก็ค่อยๆ ทำไป ลองพยายามหามุมดีๆ ที่เขาพอจะมีมาช่วยให้อภัยได้ง่ายขึ้น หรือลองมองในมุมของเขา และสุดท้ายที่จะลืมไม่ได้สำหรับ ส.สงบนี้ก็คือการให้อภัยต่อความผิดในอดีตของตนเอง อย่าลืม แผ่เมตตาให้ตนเองมีความสุขด้วย

2) ส. สติ ยามเช้า

หลังจากทำใจให้ดีแล้วก็ต้องฝึกปัญญาให้ดีด้วย ปัญญาที่ดีคือปัญญาแห่งการรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า ปัญญาในการเข้าใจไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความคงสภาพอยู่ไม่ได้ และอนัตตา ความไม่มีตัวตนที่แท้ เมื่อเข้าใจธรรมชาติ รู้คุณลักษณะของสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจนแล้ว ย่อมจะทำให้เราไม่หลงติดยึดอยู่กับเปลือกภายนอก คือ ไม่ไปโหยหาความไม่เที่ยง ไม่จีรัง ไม่ดิ้นรนไปกับสิ่งที่มีสภาพเป็นทุกข์ แปรปรวน บีบคั้นอยู่ตลอด และไม่ไปแสวงหาสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการที่ผิดหรือเกินกำลังเพื่อมาสนองตอบความต้องการของตัวตนที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งการจะได้มาซึ่งความรู้นี้คือการฝึกให้มีสติ ระลึกรู้ร่างกายหรือจิตใจของเราเอง โดยการฝึกนี้อาจพ่วงการออกกำลังกายไว้ด้วย เพราะกายกับใจเป็นของคู่กัน กายที่ดีย่อมเสริมให้ใจดีมีสุขด้วย ใครที่สนใจการปฏิบัติธรรมก็สามารถใช้การเดินจงกรมเป็นการออกกำลังกายไปในตัวได้ หรือใครจะเลือกออกกำลังที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตน เช่น การเดินสายพาน โยคะ หรือการแกว่งแขนพร้อมไปกับการเจริญสติก็ได้

3) ส. สละ ยามสาย

เสร็จภารกิจดูแลใจดูแลกายแล้ว ต่อไปให้สร้างความมั่นคงแก่จิตใจของตนเอง ซึ่งตนจะรู้สึกมีความมั่นคงได้นั้นจะต้องอยู่ในสถานะของผู้ให้ เมื่อสามารถเป็นผู้ให้ได้หรือมีสิ่งที่ตนให้ได้จะทำให้เกิดการตระหนักรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งคุณค่านี้จะให้ปรากฏอย่างเด่นชัดจนตนยอมรับได้ก็มาจากการไปทำงานจิตอาสา ไปช่วยเหลือสังคม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำทานหรือช่วยด้วยทรัพย์สินเงินทอง การข่วยด้วยแรงกาย หรือการแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ ก็สามารถกระตุ้นการรับรู้คุณค่าในตัวเองนี้ให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน ช่วงสายของแต่ละวันนี้จึงควรหมุนเวียนออกไปทำจิตอาสาตามความพร้อม โดยเลือกดูงานที่ชอบ ที่เหมาะแก่สภาพ รวมถึงสถานที่ที่ไม่ลำบากในการเดินทางด้วย ส.สละนี้จะเป็นการนำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงมาสู่ตน ให้ตนได้ภาคภูมิใจในตัวเอง อันเป็นหลักประกันของความสุขอย่างยั่งยืน

4) ส. สมัย ยามบ่าย

หลังทำภารกิจ 3 ส. ในภาคเช้าเสร็จ ส. ต่อไปจะเป็น ส.ที่ช่วยให้ชีวิตมีความตื่นตัว ให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมนี้อย่างเท่าเทียม เท่าทัน และมีศักดิ์ศรี นั่นคือการทำตนให้ยังอยู่ในสมัยหรือร่วมสมัย จึงแนะนำให้ใช้เวลาช่วงบ่ายในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหตุการณ์สำคัญรอบโลกสักเล็กน้อย พอให้ไม่ตกข่าวด้วยความระวัง อย่าไปอินกับเนื้อข่าวนั้น ให้มองทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เพื่อที่จะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อชีวิตของเรา การรับข่าวนี้ก็เพื่อคลายความกังวลที่อาจเกิดจากความไม่รู้ในสถานการณ์ของสังคมที่มีผลต่อเราหรือครอบครัวเพื่อที่เราจะได้จัดการกับสิ่งนั้นได้อย่างเหมาะสม เช่น การออกกฏหมายใหม่อย่างกฎหมายมรดกที่เราจำเป็นต้องรู้เพื่อจัดการได้อย่างเหมาะสม หรือ การมีโรคใหม่ๆ อย่างไวรัสซิกาที่เราก็ต้องมีข้อมูลเพื่อจะได้ป้องกันได้ถูก ฯลฯ แต่ที่สำคัญสำหรับ ส.สมัยนี้ คือ การหาความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยสนใจจะเรียนรู้มาก่อน เพื่อช่วยในการกระตุ้นเซลสมองให้สมองมีความตื่นตัว ช่วยให้ความคิดคล่องแคล่ว การหาความรู้ใหม่ๆ นี้ ให้ตระหนักว่าไม่ได้มุ่งเอาความรู้นั้นไปใช้จริง แต่เพื่อฝึกสมอง หรือวิธีคิด วิธีมองสิ่งต่างๆ ในแบบที่เราไม่คุ้นเคย เช่น ผู้ชายอาจลองหาตำราอาหาร ตำราตัดเสื้อมาอ่าน ผู้หญิงอาจลองหาหนังสือรถ หนังสือกีฬามาดู ฯลฯ

5) ส. สะพาน ยามเย็น

สุดท้ายในยามเย็นก่อนเวลาอาหารเย็นของครอบครัว ภารกิจ ส.สุดท้าย คือ ส.สะพาน เป็นการส่งต่อความรู้และประสบการณ์อันมากมายที่สะสมมาหลายสิบปีของแต่ละช่วงชีวิต ที่ไม่ควรปล่อยให้หายไปพร้อมกับตัวเรา ควรจดบันทึกหรือพูดคุยถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าจดจำกับลูกหลาน เพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้ ไม่ต้องปล่อยให้ลูกหลานไปลองผิด ลองถูก อันเป็นการเสียเวลา และอาจก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้นโดยไม่จำเป็น การถ่ายทอดนี้นอกจากจะถือเป็นการทำหน้าที่สำคัญของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในการดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่สะสมมาแล้วยังถือเป็นการฝึกฝนภาษา ได้ทำการสื่อสารที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยในเรื่องของการสื่อสารนี้ในโอกาสอื่นตลอดทั้งวันก็ควรพูด เขียนหรือสื่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยใจเมตตา พูดแต่เรื่องจริงด้วยคำเพราะเหมาะแก่ฐานะ ที่สำคัญคือสื่อเพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีขึ้นก็จะทำให้การสื่อสารนั้นเป็นคุณทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

นางสาวกรรณิการ์ ยูประพัฒน์ วัย 77 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากเกษียณมาแล้ว 17 ปี ทุกวันนี้ก็ยังคงทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยให้ชีวิตในทุกๆ วันยังคงมีความสุขและได้รู้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตขาดบางสิ่งบางอย่างไป วัยเกษียณบางท่านอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังสูญเสียบางอย่างในวันเกษียณ ทั้งอำนาจที่เคยมี บริวารที่ห้อมล้อม หรือชื่อเสียงเงินทองที่จะหายไปเมื่อวันนั้นมาถึง หากไม่เตรียมตัวรับมือล่วงหน้าก็อาจจะเกิดปัญหาด้านต่างๆ ตามมาและสุดท้ายจะกลายเป็นภาระของลูกหลานหรือสังคม ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแน่นอนว่าจะมีวัยเกษียณเพิ่มขึ้น จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสที่ผู้เกษียณอายุที่ยังมีสุขภาพสมบูรณ์ มีพลังที่จะสร้างสรรค์สังคม จะได้แสดงศักยภาพด้วยการใช้ความรู้และประสบการณ์ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช อายุ 63 ปี อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า มนุษย์เงินเดือนทุกคนต่างใฝ่ฝันและเฝ้ารอคอยการมาถึงของวันเกษียณ จริงๆ แล้วการเกษียณถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะได้หยุดพักใช้เวลาอยู่กับตัวเองและครอบครัว หลังจากที่ตรากตรำทำงานหนักมาหลายสิบปีต้องแบกรับภาระหน้าที่ต่างๆ มีความเครียด กังวล ต้องอยู่ในกรอบและกฏเกณฑ์มากมาย ซึ่งในความเป็นจริงชีวิตหลังเกษียณของคนส่วนใหญ่กลับไม่เป็นอย่างที่ฝัน คนวัยเกษียณจำนวนมากไม่มีเงินเก็บ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีหนี้สินติดตัว มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่จะตามมา ยังไม่รวมถึงความเหงาและโดดเดี่ยวที่จะต้องพบเจอ จึงอยากฝากให้คนรุ่นหลังและคนที่กำลังจะเกษียณให้เตรียมรับมือรู้จักการออมเงิน ดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อเข้าสู่วัยเกษียณอย่างเป็นสุข เปลี่ยนจากการเป็นภาระให้กลายเป็นพลังที่สนับสนุนให้ลูกหลานและสังคมก้าวต่อไป ดังคำกล่าวที่ว่า "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ"

"ในวันแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในชีวิตของผู้สูงอายุนี้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อม หรือขาดการวางแผนชีวิตที่เหมาะสมก็อาจนำมาซึ่งปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะด้านจิตใจนั้นจำเป็นที่จะต้องพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส นำช่วงเวลาที่มีมากขึ้น ที่ไร้ซึ่งอำนาจ บริวารห้อมล้อมดั่งเคย มาสร้างเป็นชีวิตใหม่ที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อทั้งความสุขของตนเอง และการเป็นหลัก เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรใหญ่ให้ลูกหลานได้พักพิง กิจกรรม 5 ส. จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างสุขที่ยั่งยืนให้สังคมสูงวัยนี้" ดร.วีรณัฐ กล่าวสรุป

เคล็ด(ไม่)ลับ 5 ส. สร้างสุขวัยเกษียณ เคล็ด(ไม่)ลับ 5 ส. สร้างสุขวัยเกษียณ