“DJ TEEN” จิตอาสาชุมชน

03 Oct 2016
"...เพราะว่าในฐานะที่เราเป็นเยาวชนด้วยกัน การที่เรานำเสนอเรื่องที่เราอยู่ในฐานะเดียวกันคือการเป็นเยาวชน เราจะเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรามากกว่า การจัดรายการเราเน้นที่ให้หลักการ เหตุผล ข้อดี ข้อเสียของแต่ละเรื่อง ไม่ได้ไปว่าเขา นอกจากเรื่องท้องวัยใส ยังนำเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ไม่เหมาะสมไปพูดด้วยครับ"
“DJ TEEN” จิตอาสาชุมชน

ทิว หรือ นายภานุพงษ์ วัฒนะ อายุ 18 ปี จากโรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา หนึ่งใน12 แกนนำเยาวชน อบต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เล่าเรื่องราวของการทำหน้าที่"DJ TEEN" จิตอาสาชุมชน ที่สถานีวิทยุ 97.75 KLAT FM RADIO ตั้งอยู่ที่ อบต.กลาย ได้จัดร่วมกับกับดีเจมืออาชีพ ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด การจัดรายการมีทั้งหมด 4 ช่วง ตั้งแต่เวลา 14.00 - 16.00 น. โดยมีน้องๆ หมุนเวียนกันมาทำหน้าที่โดยไม่อิดออด โดยได้ทำหน้าที่เหมือนดีเจ.คนหนึ่ง ที่สามารถใช้ระบบเครื่องเสียงในห้องถ่ายทอดสด เปิดเพลง เปิดจิงเกิ้ล พูดเปิดตัว แนะนำเข้าสู่รายการ พูดคุยกับแฟนรายการได้อย่างไม่เคอะเขิน และที่สำคัญได้สอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เรื่องเพศ เรื่องภัยจากเทคโนโลยี ให้เพื่อนๆ วัยเดียวได้ฟังด้วย และมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของชุมชน และอบต. เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุและคนพิการประจำเดือนอีกด้วย

รายชื่อแกนนำเยาวชนอบต.กลาย (ส่วนหนึ่ง) ประกอบด้วย 1) ด.ช.รณชัย เรื่องกถิน (แนท) อายุ 13 ปี โรงเรียนวัดดอนใคร 2) ด.ญ.วันวิสา นวลนุสิก (ผึ้ง) อายุ 14 ปี โรงเรียนวัดดอนใคร 3) ด.ญ.วีรนุช รอดภัย (มุก) อายุ 14 ปี โรงเรียนวัดดอนใคร4) ด.ญ.มานิตา นิพัด (ปอ) อายุ 14 ปี โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 5) นางสาวกัญญารัตน์ มาอิน (ตาล) อายุ 15 ปี โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 6) ด.ญ.ปินยา แก้วน้อย (ซิม) อายุ 14 ปี โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 7) ด.ญ.ณัฐวัฒน์ กิจบูรณ์ทวี (แม็ค) อายุ 14 ปี โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 8) นายภานุพงศ์ วัฒนะ (ทิว) โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 9) นางสาวนิพาลา คุณธรรม อายุ 15 ปี โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา 10) นายณัชพล ริมเซ่ง (นัท) อายุ 15 โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา

เด็กกลุ่มนี้ จะไม่ได้เป็นดีเจ.เลย ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ใจดี อย่างอบต. กลาย เปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพตนเอง หลเพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ การเริ่มเป็นดีเจ. ย้อนหลังไปเมื่อปลายปี 2558 ทาง อบต. กลายได้ส่ง "ทิว - แพร - ตาล - ซิม - ปอ "เยาวชนแกนนำไปอบรมกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในการป้องกันและแก้ไข (DJ TEEN) ที่จัดโดยกรมกิจกรรมเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปลายปี 2558 มีเป้าหมายเพื่อให้มีช่องรายการวิทยุในพื้นที่ สามารถจัดรายการวิทยาสื่อสาร รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศเชิงบวก และเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น จากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้รับการอบรมมา มาปฏิบัติจริงที่สถานีวิทยุและขยายผลให้กับเพื่อนๆ และรุ่นน้องจนได้ผลเป็นที่น่าประทับใจของคนในชุมชน

"พวกเราไปนำร่องฝึกก่อนและนำมาต่อยอดที่ชุมชนของเราเอง ตอนแรกก็ไม่อยากไปเพราะคิดว่ามันยาก ทำไม่ได้แน่นอนเลย แต่พอกลับมาพี่กุ้ง (ลัดดาวัลย์ ทองคำ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน - นักถักทอชุมชน) ก็ให้พวกเรามาฝึกกันและช่วยกันคิดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรดี สรุปพวกเราก็ได้ไอเดียมากจากที่พวกเราเข้าร่วมกิจกรรมอบรมของอบต.(มีกิจกรรม อาทิ กิจกรรม "เยาวชนวัยใส หัวใจปรองดอง" , การแสดงละครเฉลิมพระเกียรติ,กิจกรรมต้นกล้าเยาวชนป้องป่า รักษาต้นน้ำ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง , กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยหัวใจ ใสสะอาด ลูกพระธาตุไม่เอาคอร์รัปชั่น ร่วมต่อต้านยาเสพติด,กิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น) หยิบเรื่องที่เราไปอบรมมานำเสนอให้ทุกคนได้รู้ด้วย ตอนได้พูดครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น พอเข้าห้องจริงก็คิดไม่ทันว่าจะพูดอะไรออกไปบ้าง เพราะตอนที่เราเข้าไปก็จะมีพี่ดีเจ.ที่เขาจัดช่วยเราด้วย เราก็มีการเตรียมตัว เตรียมสคริปต์มาก่อน สคริปต์พวกเราก็คิดกันเอง หลังจากพูดเสร็จเพื่อนๆ ก็ช่วยสะท้อนว่าฟังแล้วเป็นอย่างไร จากวันนั้นถึงวันนี้เพื่อนบางคนมาแล้วไม่มาอีก จนเหลือที่จัดเป็นประจำ คือ ปก ตาล ซิม นัท ครับ"

จากไม่กล้าเป็นกล้า จากกล้าเกิดประโยชน์กับตน "การเป็นดีเจ. ทำให้เรากล้าพูดมากขึ้น รู้จักแก้สถานการณ์ เราพูดอะไรผิดไป ก็ต้องต้องไหวพริบในการแก้ไขคำพูด มีการคิดเรื่อง การเอนเตอร์เทนผู้ฟัง ทำให้รู้สึกกับการเป็นดีเจ.มากขึ้น และมีผลต่อการเรียน ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีสติมากขึ้น เพราะการที่เราต้องใช้สติในห้องส่ง ทำให้เราได้ฝึกสติ เอาไปใช้ในการเรียนด้วย ทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่ครูจะมาสอนเรา ทำให้เข้าสมองเร็วขึ้น เพราะว่าการที่เราจะคิดสคริปท์เราต้องใช้สมองในการคิดเร็วมากครับ และการหาข้อมูลเพื่อทำรายการทำให้เราได้เรียนรู้ เพราะเราต้องเข้าใจสิ่งที่จะนำเสนอก่อน"

"นัท" ร่วมสะท้อนว่า "การได้มาเป็นดีเจ. ทำให้รู้จักการมีสติมากขึ้น ทำให้กล้าพูดและพูดเก่งขึ้น รู้จักสถานการณ์ภายนอกชุมชนมากขึ้น การจัดรายการวิทยุ ทำให้เราต้องสืบค้นข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าเป็นข่าวรายวันหรือความรู้เรื่องอื่นๆ เราต้องนำมาพูดให้ทุกคนได้ฟัง เราได้รับความรู้ด้วย

"ซิม" ขาลุยอีกคนหนึ่งที่บอกว่าจากครั้งแรกกลัวกลายเป็นชอบ ร่วมสะท้อนว่า "ตัวเองก็เปลี่ยนเยอะเลย จากไม่กล้าแสดงออก เห็นไมค์แล้วกลัวเลย แต่ตอนนี้ชอบค่ะ นอกจากเรื่องการพูด นิสัยเราก็เปลี่ยนไปด้วย รู้จักการแบ่งเวลา การทำภาระหน้าที่ต่างๆ เช่น การบ้าน การเรียนพิเศษ งานบ้าน ก็ช่วยแม่ถูบ้าน ล้างจาน ถ้ามีการอบรมบางทีก็หยุดเรียนพิเศษบ้างแล้วค่อยไปทบทวนกับเพื่อนที่โรงเรียน"

"แพร" ร่วมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงว่า "เป็นคนใช้เหตุผลมากขึ้น เพราะเราผ่านกระบวนการคิดมาหลายอย่างแล้ว เราสามารถแก้สถานการณ์ข้างหน้าได้ และเราใช้เหตุผลกับการพูดด้วย การที่เราใช้เหตุผลก็ช่วยลดการโดนแม่บ่น เพราะเราบอกเหตุผลที่เราทำให้แม่เข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เราทำไป เราไม่ได้เถียงแต่เราใช้เหตุผลมากกว่า แม่จะรับฟังเหตุผลมากกว่า"

ทิว เสริมว่า การที่อบต. เปิดโอกาสให้พวกตนได้มาทำกิจกรรมมากมายและมีความต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดี "ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ ได้นำเด็กจากที่มีเวลาว่าง เอาเวลาตรงนี้มามีบทบาท มีหน้าที่ มีสาระ ให้ความรู้ เอาประโยชน์ที่ได้ไปให้คนอื่นๆ รับรู้ ตัวผมเองก็คิดว่า 3 ปี มานี้ ได้โชว์ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ได้กล้าแสดงออก ได้กระบวนความคิด ทัศนคติ พ่อแม่ก็ได้ประโยชน์ ที่ให้เราได้มารับประโยชน์ตรงนี้ดีกว่าที่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราได้มาทำกิจกรรมที่ทำให้เราเป็นคนดี พ่อแม่ก็ได้ประโยชน์ ผมอยู่หมู่ 8 ก็ได้นำความรู้จากที่ได้ตรงนี้ไปให้กับน้องๆ ในหมู่บ้าน การนำความรู้ไปให้เขาจะเป็นการดึงเขาเข้ามาเหมือนที่ทิวได้มาอยู่ตรงนี้ จะทำให้น้องๆ ได้รับความรู้ และรู้จักที่มีความคิดเป็นของเขามากขึ้น ผมมีลูกพี่ลูกน้อง ญาติๆ ก็ดึงเข้ามารวมกลุ่มเกือบ 10 คน และพวกผม ได้นำความรู้ที่ได้รับการอบรมไปเผยแพร่ความรู้ให้กับน้องๆ ในโรงเรียนวัดดอนใคร โรงเรียนวัดเขาพนมไตรรัตน์ และโรงเรียนบ้านบ่อกรูด การที่เราไปเผยแพร่ความรู้ต่อ ก็ทำให้รู้สึกว่าความรุ้ที่เราได้รับมันจะได้เอาไปต่อยอดให้น้องๆ ทำให้ความรู้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เรา"

นายสุภาพ ผิวเหมาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนใคร ที่เป็นเครือข่ายร่วมส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมของอบต.อย่างสม่ำเสมอเพราะเล็งเห็นประโยชน์ "เราสามารถส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมต่อเนื่องเสาร์-อาทิตย์ได้ ทำให้เด็กได้ขยายความคิด เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ผู้ปกครองเห็นประโยชน์ พอกลับจากทำกิจกรรมแล้วเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงผมรู้สึกภูมิใจมาก เช่น กลุ่มของ มุก , ผึ้ง ได้รวมตัวกันทำโครงการสบู่ หลังกลับจากกิจกรรมเขากล้าที่จะเดินเข้ามาห้องผมและเสนอทำโครงการนี้ ผมก็สนับสนุนจนตอนนี้สามารถทำผลิตภัณฑ์ออกไปวางขายที่สหกรณ์ได้ สองอาทิตย์ถัดมาเด็กอีกกลุ่มเดินมาบอกว่าอยากทำขนม ผมก็หนุนให้ทำแต่มีโจทย์ท้าทาย ต้องทำขนมให้นักเรียนทั้ง 200 คน ทานกลางวันได้ เขาก็ทำขนมบัวลอยและพัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ การสนับสนุนให้เด็กมาทำกิจกรรมตรงนี้ ผมต้องการดึงเด็กให้ใช้เวลา ให้เขาได้ทดลองนอกห้องเรียน อีกเรื่องคือเรื่องพฤติกรรมนักเรียน เขาจะได้มีการรวมกลุ่มกันทำ มีความรับผิดชอบมากขึ้น กล้านำเสนอสิ่งดีๆ ถ้าเด็กมีสิ่งเหล่านี้ สัก 70เปอร์เซนต์ ปัญหาเด็กในโรงเรียนจะลดลงมาก เพราะเด็กเขา คิดได้ ทำได้ รับผิดชอบตนเองได้ก็รับผิดชอบได้ทุกเรื่อง"

จากเสียงสะท้อนของเยาวชนแกนนำ นอกจากทำให้คนเป็นครูเบาใจไปเปาะหนึ่งแล้ว ก็ยังทำให้นาย ยุทธยา พิมเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ได้คลายใจไปบ้างหลังจากมีความกังวลเรื่องเด็ก เยาวชนในพื้นที่ กับสถานการณ์เสี่ยง จากผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการชักจูงไปในทางไม่ดี "ผมสนับสนุนนักถักทอชุมชนเต็มที่ให้ใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปต่อยอด ส่งเสริมเยาวชนทำกิจกรรมต่างๆ อบต.ได้รับการหนุนเสริมจากภาคีเครือข่าย อาทิ พมจ. PDA สหไทยมูลนิธิ สสส. มูลนิธิสยามกัมมาจล สรส. และปปส. เป็นต้น 3 ปี เราได้เห็นว่าเยาวชนกลุ่มนี้ สามารถเป็นกลุ่มแกนนำของอบต.กลายได้ และคาดหวังว่าให้รุ่นนี้ ช่วยสร้างรุ่นน้องรุ่นต่อๆไปให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กกลุ่มนี้สามารถแสดงศักยภาพได้ระดับหนึ่ง อบต.ก็จะหนุนเต็มที่โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ช่วยกันหนุนเด็กทำกิจกรรม"

นักถักทอชุมชนที่ร่วมเดินไปพร้อมๆ กับเยาวชนได้แก่กุ้ง-ลัดดาวัลย์ ทองคำ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน บังซอแล๊ะ-สาแหล้ ใบระหมาน รองนายก อบต. และ แหวว-สำรอง ขุนพิพัฒน์ อาสาสมัคร (อสม.) ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

สามปีได้พิสูจน์เส้นทางเดินของกลุ่มเยาวชนแกนนำ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง กล้าแสดงออก กล้าพูด รับผิดชอบ รู้จักตนเอง และร่วมเป็นจิตอาสา พร้อมร่วมพัฒนาชุมชนไปกับผู้ใหญ่ ถึงแม้วันนี้ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ที่ อบต.กลายตั้งไว้ อยากให้เด็กทุกคนเป็นเด็กดีของชุมชน แต่ก็ไม่ได้ลดความพยายามที่จะพัฒนาเยาวชนของตนไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ โดยมี "ผู้ใหญ่ใจดี" ทั้ง 12 หมู่บ้านมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมหนุนเสริมอย่างเต็มที่

“DJ TEEN” จิตอาสาชุมชน “DJ TEEN” จิตอาสาชุมชน “DJ TEEN” จิตอาสาชุมชน
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit