คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อาจารย์พิเศษด้าน Intercultural Communication ซึ่งเคยศึกษาและมีประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศฟินแลนด์ ให้ความเห็นว่า "โลกปัจจุบันหมุนเร็วมากและติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมาก ดังนั้นเด็กไทยจึงต้องมีความรู้พื้นฐานทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เขาต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพราะเขาจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยอะเวลาเจอคนต่างวัฒนธรรม รวมทั้งต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับคนอื่น (Collaboration) และสามารถ สื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ชัดเจน (Communication) เด็กไทยวันนี้ไม่ใช่แค่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร แต่ต้องรู้ด้วยว่าถ้าเอาตัวเราไปอยู่ในโลกท่ามกลางคนจากหลายวัฒนธรรม เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
"เมื่อยกระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มาเปรียบเทียบกับบ้านเราจะพบว่า ความเร่งรีบในระบบการศึกษามีความต่างกันชัดเจน เด็กวัยเตรียมอนุบาลในฟินแลนด์จะได้เล่นสนุกทั้งวัน ปีนต้นไม้ เล่นขายของ เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กมีความสุข แล้วสมองที่เป็นเหมือนฟองน้ำก็จะเกิดการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวได้เอง ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันในบ้านเราเริ่มหัดอ่านเขียนกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ดังนั้นเด็กฟินแลนด์จึงเป็นเด็กที่ใช้เวลาในห้องเรียนน้อยที่สุดในโลก แต่การวัดผลกลับกลายเป็นว่าเด็กของเขาฉลาดที่สุดในโลก
"การเลี้ยงดูก็เช่นกัน ในวัฒนธรรมไทย พ่อแม่จะเอาตัวเองออกมาจากระบบการศึกษา วางลูกไว้ในความรับผิดชอบของโรงเรียน แล้วรู้สึกว่าหน้าที่เราจบแล้ว ดังนั้นพ่อแม่ไทยจะยอมลงทุนมหาศาลกับการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียนของลูก แต่ที่ฟินแลนด์เขามองว่าการเรียนรู้และเติบโตเกิดขึ้นได้ทุกที่ ผู้ปกครองในประเทศฟินแลนด์จึงเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของลูกทุกอย่าง และพ่อแม่ก็จะต้องมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมนอกหลักสูตรที่จัดขึ้นในโรงเรียนของลูกเสมอ เช่น ร่วมกันจัดทัศนศึกษา เป็นโค้ช เป็นผู้จัดการให้ทีมเบสบอลโรงเรียน ฯลฯ
"อีกอย่างที่สำคัญมากสำหรับเรื่องการสร้างความฉลาดให้แก่เด็กในประเทศฟินแลนด์คือวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งเรียกว่าอยู่ในสายเลือดของเขา โดยสืบทอดจากวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่อย่างแนบเนียน และเป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากการที่เด็กเห็นพ่อแม่อ่านหนังสือตลอดเวลา แต่หากพูดถึงการใช้เทคโนโลยีซึ่งหลายกระแสบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระดับพัฒนาการลดลง โดยภาพรวมผู้ปกครองในประเทศฟินแลนด์มองว่า ขึ้นอยู่กับอายุและการสอนของผู้ใหญ่ว่าเด็กควรใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างไร พ่อแม่ไม่ได้มองว่าเกมมีแต่ข้อเสียเท่านั้น หากแต่ขึ้นอยู่กับวิธีและการนำเกมไปใช้ เช่น ส่งเสริมให้เรียนออกแบบเกม ซึ่งนอกจากเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะมองเห็นโอกาสเหล่านี้แล้ว พ่อแม่เองต้องส่งเสริมทุกเรื่องที่เด็กสนใจและถนัดให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและก้าวไปได้ไกลกว่า คือคนที่พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งต้องมีสมองพร้อมรับทักษะที่หลากหลายและฉลาดรอบด้าน เพื่อสร้างชีวิตที่สมดุลระหว่างความสำเร็จกับความสุข ซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งเหล่านี้นอกจากจะสามารถส่งเสริมได้จากบ้านและโรงเรียนแล้ว บทบาทของพ่อแม่ในการเตรียมพร้อมด้านโภชนาการเพื่อพัฒนาสมองตั้งแต่สามขวบปีแรกของชีวิตก็สำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
"ถ้าพ่อแม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก จะรู้ว่าตอนนี้ลูกของเราขาดทักษะด้านไหนและควรจะเติมอะไร และพัฒนาการทุกด้านจะสมบูรณ์ได้ มาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น เด็กทำลูกบอลกลิ้งเข้าไปใต้โต๊ะ การคิดว่าเขาจะคลานเข้าไปหยิบ เรียกคนอื่นมาช่วยหยิบ หรือไปเอาไม้กวาดมาเขี่ยลูกบอลออกมา ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาสมองในส่วนการคิดวิเคราะห์ฉับไว ความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือแบ่งปัน และการสื่อสารเฉียบคม ซึ่งเป็น 4 ทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญ และเด็กๆ จะขาดทักษะทั้งหมดนี้ไปถ้าหากมัวแต่นั่งเล่นหน้าจอต่างๆ หรือถ้าพ่อแม่ไปจำกัดทางเลือกโดยคิดทุกอย่างไว้ให้ล่วงหน้า หรือทำทุกอย่างให้หมด
"เพราะคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พ่อแม่จึงต้องเตรียมลูกให้รอบด้าน คือเปิดโอกาสให้ลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ได้จำเป็นต้องหาเงินเยอะๆ มาส่งลูกไปเรียนพิเศษ เพราะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กจริงๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่องคือ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง การแก้ปัญหา การปรับตัวเข้ากับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการสื่อสาร และสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ในทุกสถานการณ์ ถ้าพ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้ฉลาดคิดและฉลาดทำได้ เด็กก็จะสามารถเติบโต พัฒนา และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
"และปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาทักษะทุกด้านโดยเฉพาะ 4 ทักษะแห่งอนาคตมาจากพื้นฐานการพัฒนาสมองที่สมบูรณ์ ดังนั้น โภชนาการก็สำคัญ การรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาสมองได้อย่างครอบคลุม ยกตัวอย่างสารอาหารบางชนิด เช่น กรดไขมันจำเป็นอย่าง DHA ที่ได้รับจากปลาทะเลอย่างทูน่าหรือแซลมอน หรือปลาน้ำจืดที่มีไขมันเยอะอย่างปลาดุก ปลาสวาย หรือปลาสลิด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้สมองของลูกพร้อมสำหรับการพัฒนาทักษะอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วในอนาคต"
ยิ่งเซลล์สมองมีการเชื่อมต่อมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่าไร พัฒนาการทางสมองของเด็กก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วว่าดีเอชเอในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง พัฒนาระดับสติปัญญา การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการแก้ปัญหาซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของเด็กได้ ช่วยให้เด็กยุคใหม่สามารถเติบโตและก้าวทันโลกได้อย่างสมบูรณ์และมีความสุข
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit