สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย และบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเปิดงาน EDUCA 2016: งานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 9 อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-14 ต.ค.นี้ พบกับผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาชั้นนำระดับโลกทั้งจากเอเชียและยุโรป พร้อมกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ สัมมนาพิเศษ ฟอรั่มครูใหญ่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) สำหรับครูไทยที่ครอบคลุมทุกมิติและตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาวิชาชีพครูไทยรวมมากกว่า 150 หัวข้อ ตลอดระยะเวลา 3 วัน
สำหรับงาน EDUCA 2016 หรือมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "School as Learning Community (SLC): โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้" ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2559 ณ อาคารอิมแพคฟอรั่ม (ฮอลล์ 9) เมืองทองธานี ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงานจะได้พบกับการประชุมนานาชาติและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ สัมมนาพิเศษ ฟอรั่มครูใหญ่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับครูไทยกว่า 150 หัวข้อ โดยในการประชุมนานาชาติ (International Conference) จะมีปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร. มานาบุ ซาโต้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกักคุชูอิน ประเทศญี่ปุ่น ที่จะมาถ่ายทอดแนวคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง "School as Learning Community (SLC): โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้" และร่วมเสวนานานาชาติด้าน โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษานานาชาติ อาทิ
"พัฒนาการเรียนรู้และความเป็นผู้นำโดยใช้การศึกษาผ่านบทเรียนในชั้นเรียนในโรงเรียนและในเครือข่ายการเรียนรู้"โดยศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ ดัดเลย์ ศาสตราจารย์รับเชิญกิตติมศักดิ์ บัณฑิตวิทยาลัยด้านการครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร"การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ" จาก นาง โป มุน ซี ผู้อำนวยการโรงเรียนหญิงราฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ นาง แมรี่ เชริยัน รองผู้อำนวยการและหัวหน้าศูนย์วิจัยด้านศาสตร์การสอนและการเรียนรู้ โรงเรียนหญิงราฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์"การพัฒนาและการให้บริการสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของสาธารณรัฐเกาหลีในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง (มุ่งเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้)" โดย ดร. ดุ๊ก ฮุน กว๊าก รองประธานบริษัทซิกง มีเดีย ประธานสมาคมอีเลิร์นนิ่ง และศาสตราจารย์เกียรติคุณมหาวิทยาลัยเปิดแห่งสาธารณรัฐเกาหลี"จากทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพฤติกรรมนิยม สู่ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง: การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของห้องเรียนตามแนวคิด "โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้" ในไต้หวัน โดย ดร. หลีฮัวลีเฉิน ประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยด้านหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยตั้นเจียง ไต้หวัน เป็นต้น
EDUCA 2016 ยังมีกิจกรรมใหม่ที่พิเศษสุด ๆ 2 โครงการ คือ การเปิดเวที EDUCA Talk เวทีที่ให้ครู 7 คนพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและนำเสนอไอเดียใหม่ ภายใต้หัวข้อ "Straight to the Heart" เวทีเดียวที่ครูไทยหลากหลายเจเนอเรชั่นแบ่งปันความคิดและความหวัง ปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อศิษย์ และโครงการ "หนังสือเพื่อครู ต้นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อ 1) คัดเลือกหนังสือที่ครูควรอ่าน 2) สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและการพัฒนาความรู้แก่ครูอย่างต่อเนื่อง 3) สร้างทัศนคติให้ครูคือต้นแบบของการอ่านและการเรียนรู้ โดยคาดหวังว่าการส่งเสริมให้ครูได้อ่านหนังสือที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาวิชาชีพ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาครูให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง นักเรียน สังคม และประเทศชาติต่อไปในกิจกรรมดังกล่าว ท่านจะได้พบกับหนังสือดีมีประโยชน์สำหรับครูโดยเฉพาะ ได้แก่
1) การจัดทำหนังสือพิเศษโดยเฉพาะสำหรับ EDUCA 2016 ที่ครูไม่ควรพลาด อาทิ หนังสือแปลครั้งแรกจากภาษาญี่ปุ่น เรื่อง การปฏิรูปโรงเรียน: แนวความคิด "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" กับการนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริง โดย ศ.ดร.มานาบุ ซาโต และ"นี่แหละเด็ก...โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ" เขียนโดย อาจารย์พวงเพ็ชร เอี่ยมสกุล และอาจารย์เกรียง กีรติกร ที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวพัฒนาการของเด็กและการจัดการศึกษาโรงเรียนประถมศึกษา ในอดีตที่ยังล้ำสมัยและใช้ได้จนปัจจุบัน ตลอดจน "คัมภีร์การบริหารจัดการโรงเรียนเพื่อเด็กทุกคน" ที่มีเค้าโครงสำคัญจากวิทยานิพนธ์ การสอนซ่อมเสริมสำหรับเด็กที่เรียนช้า โดย รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมสาธิตวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน ที่เขียนขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนแต่องค์ความรู้และประสบการณ์ กลับสะท้อนให้เห็นความล้ำสมัยในความคิด และหลักการบริหารโรงเรียนที่แสดงปรัชญาการจัดการศึกษาโดยให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน และ "เทคนิคเรื่องเงินทองของเศรษฐีแสนสุข เคล็ดลับเฉพาะครู" เป็นหนังสือที่ทางปิโกได้จัดพิมพ์ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยเจตนาที่เล็งเห็นว่า ทักษะด้านการบริหารจัดการเงิน ถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาที่จำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพราะการมีพื้นฐานในการวางแผนทางการเงินที่ดีย่อมส่งผลต่อการวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตด้วย
2) หนังสือดีกว่า 40 เรื่องที่คัดสรรอย่างพิถีพิถันเพื่อครูโดยเฉพาะ อาทิ "การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร" โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช "ครูแห่งศตวรรษที่ 21" โดย สุทัศน์ เอกา "ถอดรหัสปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การสอนกระบวนการคิด" โดย ทิศนา แขมมณี "การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน" โดย สุวิมล ว่องวาณิช "รู้เนื้อหาก่อน สอนเก่ง" โดย พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และคณะ"เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed): ปฏิวัติการเรียนรู้ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ" โดย พอล ทอช (Paul Tough)"ร้อยประเมินหรือจะสู้...ครูคนหนึ่ง" โดย เฮเดน ทอรี่ (Hayden Tory) และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานEDUCA 2016 ทุกท่านจะได้รับหนังสือดีที่ครูควรอ่านจากโครงการ "หนังสือเพื่อครู ต้นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ฟรี ท่านละ 1เล่ม เลือกรับหนังสือได้ตามความสนใจของตนเองงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบความรู้ให้แก่ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษา และเป็นพลังแห่งความรู้ที่จะยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาสังคมไทยต่อไปในอนาคต
HTML::image(