นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ร่วมมือกับสถาบันศึกษาทั่วประเทศ ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในสถาบันการศึกษา เริ่มตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและนำความรู้เรื่องหลักประกันสุขภาพไปใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการขยายความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพไปยังคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาและทำให้เกิดการเข้าถึงสิทธิได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในหลักสูตรวิชาชีพด้านสุขภาพยังสามารถนำไปใช้เพื่อให้บริการสุขภาพตามบทบาทในวิชาชีพต่อไปได้
นพ.รัฐพล กล่าวว่า สถาบันการศึกษา 30 แห่งเข้าร่วมมีทั้งสังกัดภาครัฐ และเอกชน ในสังกัดต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สุราษฏร์ธานี และเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชฎัชอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซ่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่อง "ระบบหลักประกันสุขภาพไทย" มีรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของนักเรียนนักศึกษาแต่ละระดับชั้น รูปแบบการดำเนินการของแต่ละสถาบัน และความชำนาญของอาจารย์ผู้สอนในแง่มุมต่างๆ อาทิ การจัดทำหลักสูตรระบบหลักประกันสุขภาพไทย การจัดทำเนื้อหาการเรียนที่สอดแทรกความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถไปปรับใช้ในชีวิตจริงเป็นต้น
นพ.รัฐพล กล่าวว่า นอกจากนั้น สปสช.ระดับเขตยังได้มีจัด "โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการขับเคลื่อนหลักสูตรระบบหลักประกันสุขภาพไทยในสถาบันการศึกษา" ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในสถานศึกษา ได้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเพื่อขยายผลต่อไป พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาหลักประกันสุขภาพในสถาบันการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนหลักสูตรระบบหลักประกันสุขภาพในสถาบันการศึกษา เช่น การจัดประชุมเครือข่าย โดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุดรธานีร่วมกับ สปสช.ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา
"การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในสถาบันการศึกษานับเป็นช่องทางสำคัญ ที่ช่วยให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นฐาน นอกจากเข้าใจถึงหลักการและสถานการณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ยังรับรู้ถึงวิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่ความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืนต่อไป" ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit