สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้น ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยทั้งทางวุฒิสภาและทางศาลยุติธรรม ดังนี้
1. ด้านวุฒิสภา การกล่าวอ้างที่ปรากฏขึ้นมานี้ เป็นเอกสารเรื่องเดียวกับที่นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ใช้แถลงต่อวุฒิสภาว่า นายภักดี โพธิศิริ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด เกินกว่า 15 วัน นับแต่วันดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 11 เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเอกสารที่ได้ปรากฏต่อที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ซึ่งในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่ให้นายภักดี โพธิศิริ พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าวุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จนได้ข้อยุติไปแล้ว
2. ด้านศาลยุติธรรม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พล.อ.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต นายปลอดประสพ สุรัสวดี และนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่านายภักดี โพธิศิริ แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. โดยเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่นายภักดี โพธิศิริ เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อันเนื่องจากมีการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร เกิน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ทั้ง 5 คน ได้อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1066/2558 หมายเลขแดงที่ 10431/2558 ซึ่งศาลอาญาได้พิเคราะห์ไว้ในคำพิพากษา โดยสรุปว่า เมื่อนายภักดี โพธิศิริ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูป การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีอำนาจตามกฎหมาย ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายภักดี โพธิศิริ ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และให้เพิกถอนพ้นจากการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด นายภักดี โพธิศิริ จึงยังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 19 การเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นการกระทำของนายภักดี โพธิศิริ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
สรุป จะเห็นได้ว่านายภักดี โพธิศิริ มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มีผลให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าว
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit