เวทีอมาฟบวกสามเห็นชอบเร่งแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ด้าน พลเอกฉัตรชัย รุกเจรจาร่วมทุนเมียนมาร์ทำประมงในน่านน้ำ พร้อมย้ำเกาหลีใต้ยินดีนำเข้าไก่สดไทยเมื่อจบกระบวนการตรวจรับรองภายในปลายปีนี้

10 Oct 2016
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 16 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กล่าวขอบคุณประเทศอาเซียนบวกสามที่ได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมภายใต้องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) และระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงอาหารแห่งอาเซียนบวกสาม AFSIS ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีที่ตั้งสำนักเลขานุการอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเทศไทยหวังว่าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสามจะร่วมกันพิจารณาจัดทำ กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ในตลาดโลก เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาบุคคลากรในทุกระดับ เพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคและของโลก และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตร
เวทีอมาฟบวกสามเห็นชอบเร่งแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ด้าน พลเอกฉัตรชัย รุกเจรจาร่วมทุนเมียนมาร์ทำประมงในน่านน้ำ พร้อมย้ำเกาหลีใต้ยินดีนำเข้าไก่สดไทยเมื่อจบกระบวนการตรวจรับรองภายในปลายปีนี้

นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกพิจารณาใช้ประโยชน์จาก APTERR อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเทศที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ประเทศอาเซียนบวกสามควรร่วมกันสนับสนุนให้ AFSIS มีกลไกการดำเนินงานที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และเชื่อมั่นว่าประเทศอาเซียนบวกสามจะมุ่งหน้า ไปด้วยกันสู่อาเซียน 2025

พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการประชุมกรอบความร่วมมือรัฐมนตรีเกษตรอาเซียนข้างต้นแล้ว ยังได้หารือทวิภาคีกับสองประเทศ เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน ได้แก่ การหารือร่วมกับนาย นาย ออง ตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมง ทั้งในเรื่องการต่อต้านการทำประมง IUU และการควบคุมและบริหารจัดการการทำประมงในเขตทะเลติดต่อไทย-เมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอ็มโอยูฯ ซึ่งจะได้มีการลงนามโดยเร็วต่อไป ขณะเดียวกัน ไทยและเมียนมายังเห็นชอบการทำการประมงร่วมกันในลักษณะร่วมทุนหรือ Joint Venture ซึ่งฝ่ายไทยได้ยืนยันในการดำเนินการปฏิรูปการประมงของไทยใหม่ โดยเฉพาะการต่อต้านและแก้ไขประมง IUUและมีความพร้อมที่จะอนุญาตและสามารถควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำไม่ให้ทำการประมง IUUได้ เนื่องจากในปัจจุบันเมียนมายังไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปทำประมงในรูปแบบสิทธิการทำประมง แต่สามารถดำเนินการในรูปแบบของการร่วมทุนประมง ซึ่งปัจจุบันนี้มีเรือประมงที่ถอนทะเบียนเรือไทย จำนวน 5 ลำ เข้าร่วมบริษัทร่วมทุนทำการประมงในน่านน้ำเมียนมา

สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-เมียนมา ในปี 2559 (ม.ค. –ส.ค) ประมาณ31,208.7 ล้านบาท ส่งออกไปยังเมียนมา 25,753.1 ล้านบาท นำเข้าจากเมียนมา 5,455.6 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 20,297.5 ล้านบาท

ด้านผลการหารือกับ นายโอ คย็อง แท รองปลัดกระทรวงเกษตร อาหาร และกิจการชนบทสาธารณรัฐเกาหลีสาธารณรัฐเกาหลี ก็ยินดีที่จะเร่งรัดกระบวนการรับรองเพื่อเปิดตลาดสิงค้าไก่สดแช่เย็น/ แช่แข็ง และมะม่วงพันธุ์มหาชนกให้ไทยในเร็วๆ นี้ รวมถึงการลงนามเอ็มโอยูด้านการเกษตรระหว่างกัน และจัดการประชุมคณะทำงานด้านประมงที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามความร่วมมือกันแล้วให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว