เรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง กับ 3 เยาวชนตัวน้อยจากโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม

25 Oct 2016
จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากการแบ่งหน้าที่ช่วยกันดูแลแปลงผักเกษตรของโรงเรียน สู่วิถีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้น้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็กในจังหวัดสมุทรสาคร สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้จากการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงๆ บนพื้นที่เกษตรที่มีอยู่ทั่วทั้งโรงเรียน ทั้งแปลงผัก โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และโรงเพาะเห็ด โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการนำมาปรุงเป็นอาหารกลางวันมื้ออร่อยให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน
เรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง กับ 3 เยาวชนตัวน้อยจากโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงการสร้างและสนับสนุน "คนดี" สู่สังคมจึงได้เดินทางไปยังโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม จ.สมุทรสาคร พร้อมจัดกิจกรรม "ค่ายความรู้ครูอาสา" ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อมอบความสุขและความรู้ให้กับเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ และในครั้งนี้ก็ได้นำกิจกรรมดีๆ มาให้น้องๆ เยาวชนในโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมารามได้ร่วมสนุกมากมาย อาทิ กิจกรรมเสริมสร้างความรู้อย่าง English for Fun กิจกรรมคณิตคิดง่าย กิจกรรมประดิษฐ์ของเล่นทำมือ เป็นต้น และยังได้นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาสอนการทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าให้กับคุณครู และน้องๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีกด้วย

ศิริพงษ์ สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงที่มาที่ไปในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สำหรับกิจกรรมค่ายความรู้ครูอาสา เป็นกิจกรรมที่บริษัทฯ จัดขึ้นโดยให้พนักงานในองค์กร ได้มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในครูอาสาที่จะออกค่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลน เพื่อให้ความรู้ ปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน และจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้เด็กๆ มีความสุข ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการคนดี" ที่บริษัทฯ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการส่งต่อความดีและสิ่งดีๆ คืนสู่สังคมไทย

"การจัดกิจกรรมค่ายความรู้ครูอาสา นับเป็นโอกาสอันดีที่เราทุกคนจะได้ร่วมกันส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ที่เรามาออกค่ายกันที่โรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม ซึ่งถึงแม้จะเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก แต่คุณครูและนักเรียนที่นี่ก็ยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปรับพื้นที่ว่างๆ ของโรงเรียนให้กลายเป็นแปลงเกษตร โรงเพาะเห็ดชนิดต่างๆ และเล้าเป็ดไก่ เพื่อนำมาเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน และนำบางส่วนไปขายต่อให้กับคนชุมชน ทำให้เด็กๆ ที่นี่ได้มีโอกาสเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง บริษัทฯ จึงเข้ามาจัดกิจกรรมสนับสนุนในด้านซ่อมแซมโรงเพาะเห็ด และนำวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ทุกคนสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ต่อได้ในอนาคต" ศิริพงษ์ กล่าว

เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับสาวน้อยผู้ดูแลโรงเพาะเห็ด "น้องออม" หรือ เด็กหญิงพรพรรณ ปานจู อายุ 12 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ได้เริ่มต้นเรียนรู้กิจกรรมเกษตรจากโรงเรียนตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชันประถมศึกษาปีที่ 1 โดยในตอนนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยรุ่นพี่ คอยรดน้ำแปลงผักเล็กๆ อย่างผักบุ้ง ต่อมาจึงได้มาดูแลโรงเพาะเห็ด ซึ่งโรงเพาะเห็ดที่เด็กๆ ช่วยกันดูแลมีอยู่หลากหลายชนิดทั้งเห็ดภูฎาน เห็ดนางฟ้า และเห็ดหูหนู เป็นต้น

"การเพาะเห็ดจะต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น เพราะการเจริญเติบโตของเห็ดจะขึ้นอยู่กับความชื้นและอุณหภูมิ พวกหนูจะแบ่งเวรช่วยกันดูแล คอยหมั่นรดน้ำทุกวันทั้งเช้าแล้วเย็น โดยส่วนใหญ่จะค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลเห็ดจากหนังสือและสอบถามจากคุณครู ดีใจมากๆ ที่พี่ๆ ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะและดูแลเห็ดภูฎานที่ถูกวิธี ซึ่งพวกหนูจะนำเอาความรู้ที่พี่ๆ สอน มาใช้ในการเพาะเห็ดให้มีคุณภาพและได้ผลผลิตที่มากขึ้น โดยเห็ดทั้งหมดจะนำไปปรุงอาหารกลางวันให้กับทุกๆ คนในโรงเรียน และถ้ามีจำนวนมากพอ ก็จะช่วยกันนำไปขายในชุมชน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาในการพัฒนาโรงเรียนของเรามากขึ้นค่ะ" น้องออม กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ส่วนสองหนุ่มคู่ซี้ผู้ทำหน้าที่ดูแลเล้าเป็ดเล้าไก่อย่าง "น้องบลู" เด็กชายบูรพา โฉสันเที๊ยะ อายุ 10 ปี และ "น้องเสือ" เด็กชายคมกริช ชาญพล อายุ 10 ปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ทั้งคู่เริ่มต้นเรียนรู้กิจกรรมเกษตรตั้งแต่กำลังศึกษาในระดับชั้นอนุบาล 3 เริ่มต้นจากการหน่วยงานรดน้ำแปลงผัก จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้เลื่อนตำแหน่งมาดูแลเล้าเป็ดและเล้าไก่ โดย น้องบลู ขออาสาเล่าถึงวิธีการดูแลเป็ดไข่ให้ฟังว่า

"หน้าที่ของพวกเราคือ ดูแลให้มีน้ำสะอาดตลอดเวลา โดยแบ่งเวรช่วยกันรับผิดชอบครับ ในช่วงเช้าก่อนเข้าแถวหน้าเสาธง ก็จะเข้ามาดูแลอาหารให้เป็ด เติมน้ำสะอาด และเก็บไข่ ตอนเที่ยงก็เข้าไปดูอีกครั้งว่าน้ำสะอาดมีพอหรือไม่ และตอนเย็นก็จะเข้ามาเติมอาหาร และเติมน้ำ ซึ่งไข่ทั้งหมดจะถูกส่งไปที่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนครับ ถ้าช่วงไหนมีไข่เยอะๆ พวกผมจะนำไปขายในหมู่บ้าน และนำเงินที่ได้มาเข้าโครงการอาหารกลางวันครับ" น้องบลู เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

ด้าน "น้องเสือ" ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ขออาสาเล่าให้ฟังถึงวิธีการดูแลไก่ไข่ พร้อมถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ในการเรียนรู้แบบเศรษฐกิจพอเพียงให้เราฟังด้วยว่า

"ไก่ที่เลี้ยงจะมีอยู่ประมาณ 20 ตัว ในแต่ละวันก็จะไข่ไม่พร้อมกัน พวกเราจึงต้องแบ่งเวรช่วยกันดูว่ามีไข่ออกมาให้เก็บหรือยัง อย่างตอนเช้าก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ ผมจะไปช่วยกันให้อาหาร ให้น้ำ และเก็บไข่ ตอนเที่ยงพอทานข้าวเสร็จ ผมก็จะไปตรวจดูว่ามีไข่ออกมาเพิ่มหรือเปล่า ส่วนตอนเย็นก่อนกลับบ้านก็จะเข้ามาให้อาหาร เติมน้ำ และเก็บไข่อีกครั้งครับ ซึ่งผมมองว่า สิ่งที่ผมและเพื่อนๆ ทุกคนในโรงเรียนได้เรียนรู้จากแปลงเกษตรแห่งนี้ นอกเหนือจากความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการเกษตรแล้ว ก็คือการรู้จักพึ่งพาตนเองครับ เราปลูกผักเลี้ยงไก่เพื่อนำมาทำอาหาร และส่วนไหนเหลือก็นำไปขายเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสและประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี และสามารถไปใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วยครับ" น้องเสือ กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นความภาคภูมิในเล็กๆ ของเด็กๆ จากโรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้เรียนรู้และพึ่งพาตัวเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็สามารถเติบโต ขยายผลสู่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

HTML::image( HTML::image( HTML::image(