29 ต.ค. วันอัมพาตโลก สคร. 12 สงขลา ชวนสังเกตอาการ พบแพทย์เร็วลดเสี่ยงพิการ

25 Oct 2016
โรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก องค์การอัมพาตโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก ซึ่งประเด็นการรณรงค์ในปี 2559 นี้ คือ "Face the facts : Stroke is treatable. "อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกัน รักษาได้" เน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ตระหนักถึงอาการเบื้องต้น และเข้ารับการรักษาให้ทันเวลาดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการเกิดคือโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมีทั้งที่สามารถป้องกันได้และไม่สามารถป้องกันได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้คือ อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เพศ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่เมื่อเข้าสู่วัยทองโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น เชื้อชาติ พบว่าคนผิวดำมีอัตราการเกิดและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนผิวขาว ในขณะที่ชาวเอเชียพบการตีบตันที่หลอดเลือดสมองบ่อยกว่า และพันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ภาวะความดันเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หากสามารถลดพฤติกรรมหรือภาวะเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตน้อยลง
29 ต.ค. วันอัมพาตโลก สคร. 12 สงขลา ชวนสังเกตอาการ พบแพทย์เร็วลดเสี่ยงพิการ

สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น ประชาชนควรเรียนรู้สัญญาณเตือนของโรคนี้ ซึ่งอาจพบอาการเพียง 1 อาการ หรือมากกว่า 1 อาการ คือใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว สับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ ผู้มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดหรือภายใน 3 ชั่วโมง เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ท่านที่มีอาการดังกล่าวสามารถโทรส่วนด่วน 1669 โดยจะมีให้บริการรับส่งโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ นอกจากนี้ควรทราบค่าความดันโลหิต ในผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป ควรวัดความดันโลหิตอย่างน้อยละปี 1 ครั้ง ทราบค่าระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลของตนเอง เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม และควรเพิ่มพัก ผลไม้ในแต่ละมืออาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดหรือลดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 17 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 6.5 ล้านคน และมีชีวิตรอดจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 26 ล้านคน ซึ่งผู้ที่มีชีวิตรอดจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมาก ได้รับผลกระทบทั้งด้านสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2556-2558 มีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย แสดงให้เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นภัยที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422