นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา "โอกาสทองจิ้งหรีดไทยไปอียู : แมลงเศรษฐกิจเปลี่ยนโลก" ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำ ประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจัดขึ้น โดยกิจกรรมภายในงานนอกจากการบรรยาย เรื่อง เพาะเลี้ยงแมลงในประเทศไทย: ฟาร์มจิ้งหรีดและผลกระทบด้านสังคม โภชนาการ และเศรษฐกิจ โดย รศ. ดร. ยุพา หาญบุญทรง มหาวิทยาลัยขอนแก่น การสัมมนากลุ่มย่อยและระดมความคิดเห็น ในเรื่องมาตรฐาน GAPขั้นตอนการขออนุญาตขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การสร้างเครือข่ายและการประชาสัมพันธ์ โดยวิทยากรจากสหภาพยุโรป (EFSA) มหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้แทน มกอช.ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น แล้ว คณะยังได้เดินทางไปดูฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด มาตรฐานในฟาร์มและการพัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว ณ อำเภอบ้านพอง จังหวัดขอนแก่น ด้วย
"มกอช. ได้พาคณะผู้แทนสหภาพยุโรปลงพื้นที่ เยี่ยมชมงานด้านการเลี้ยงจิ้งหรีด การจัดการมาตรฐานในฟาร์มและการพัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร ณ หมู่บ้านจิ้งหรีด อำเภอบ้านน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากจิ้งหรีดถือเป็นแมลงเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง มีการขยายตัวการผลิตในระยะ 2 – 3 ปีหลังนี้อย่างมาก โดยในปี 2558 มีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังเป็นสินค้าอาหารที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาถูก ต้นทุนต่ำ และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า อาทิ Snack food รสชาติต่างๆ ทั้งรสต้มยำ รสวาซาบิ และจิ้งหรีดชนิดโปรตีนผงเพื่อนำไป แปรรูปเป็นเค้ก และคุกกี้ เป็นต้น"นางสาวดุจเดือน
ดังนั้น การที่ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านประเมินความเสี่ยงของสหภาพยุโรปหรือ ESFA ได้มาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบโนเวลฟู้ด แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทย ให้สามารถเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้ระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรปที่ปรับกฎระเบียบให้การยอมรับแมลงเป็นโนเวลฟู้ด (Novel Food) หรือ กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 รวมถึงการยื่นคำร้องและข้อมูลวิชาการประกอบการพิจารณาอนุญาตเปิดตลาดอาหารใหม่ในสหภาพยุโรปด้วย ขณะเดียวกัน มกอช. ยังกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด ให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงในฟาร์มจนถึงการวางจำหน่ายในตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและมีภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดสหภาพยุโรป ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัยอาหาร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์แมลงของไทยในสหภาพยุโรปและตลาดโลกได้
ในเร็วๆนี้ มกอช. ได้เตรียมจัดทำมาตรฐานจีเอพีฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อรองรับกับการพัฒนาตลาดของจิ้งหรีดซึ่งมีแนวโน้มในการเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมีตลาดต่างประเทศรองรับ มาตรฐานการผลิตที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าปลายทาง เกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว หากพัฒนาการเลี้ยงเข้าสู่ระบบมาตรฐานได้เร็วจะสร้างความได้เปรียบทางการค้า และประเทศไทยอาจเป็นศูนย์กลางการผลิตจิ้งหรีดในภูมิภาคนี้เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด ทั้งนี้ มีแผนที่จะประกาศใช้มาตรฐาน จีเอพี ฟาร์มจิ้งหรีด ได้ภายในปี 2560
ปัจจุบันเมืองไทยมีฟาร์มจิ้งหรีดมากถึงประมาณ 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรนิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเลี้ยงได้ทุกเพศทุกวัยทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับสังคมเกษตรกรรมของไทยในปัจจุบัน โดยจิ้งหรีดที่นิยมเลี้ยงเชิงพาณิชย์มี 3 สายพันธุ์ คือ สะดิ้ง ทองดำ และจิ้งหรีดขาว มีกำลังการผลิตสูงถึง 7,500 ตันต่อปี แหล่งจำหน่ายใหญ่คือตลาดโรงเกลือ และส่งโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดส่งออกไปยังตลาด สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit