นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงว่า ตามที่มีข้อกังขาถึงผลกระทบจากการทำเหมืองที่มีการใช้วัตถุระเบิดในระยะ 280 เมตรบริเวณใกล้เคียง ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี และอาจจะกระทบต่อภาพสลักนูนต่ำสมัยทวารวดีภายในถ้ำนั้น ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอยืนยันชัดเจนว่า ทางกรมฯ ได้มีการคุมเข้มและตรวจสอบอย่างเคร่งครัดกับเหมืองแร่ฯที่อยู่ห่างจากโบราณสถานในระยะ 1,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง โดยในกรณีพื้นที่บริเวณถ้ำพระโพธิสัตว์ มีการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. ประทานบัตรของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินอุตสาหกรรมชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปัจจุบันบริเวณที่เปิดการทำเหมืองอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 1,700 เมตร
2. ประทานบัตรของบริษัท เคมีแมน จำกัด เป็นประทานบัตรทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อทำปูนขาว ปัจจุบันบริเวณที่เปิดทำเหมืองอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 3,000 เมตร
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังมีคำขอประทานบัตร จำนวน 2 ราย ได้แก่ คำขอประทานบัตรของ นายสุเมธ เชาวนปรีชา ขอทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ พื้นที่คำขอประทานบัตรอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 1,500 เมตร และคำขอประทานบัตรของบริษัท ตวงสิทธิ์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ขอทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ พื้นที่คำขอประทานบัตรอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 280 เมตร ทั้งนี้ ในการทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ จะไม่มีการใช้วัตถุระเบิดแต่อย่างใด
ปัจจุบันจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพื้นที่ทำเหมืองห่างจาก ถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 1,700 เมตร มีการใช้ปริมาณวัตถุระเบิดไม่เกิน 130 กิโลกรัมต่อจังหวะถ่วง จากผลการตรวจวัดความสั่นสะเทือนและระดับเสียงสูงสุด ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2559 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีผลกระทบต่อถ้ำพระโพธิสัตว์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองอาจจะมีความเสี่ยง มีผลกระทบต่อถ้ำพระโพธิสัตว์เมื่อมีระยะห่างน้อยกว่า 1,000 เมตร โดยขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุระเบิดที่ใช้ต่อจังหวะถ่วง ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมือง เงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร และหลักวิชาการ หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2202-3555 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th