เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ SOOK Activity จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ "พิชิตมะเร็งร้าย หายได้ด้วยกำลังใจ" เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและลดความเสี่ยง รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยมี ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมให้ข้อมูลพร้อมด้วยการพูดคุยแชร์ประสบการณ์จากผู้ที่พิชิตมะเร็งมาแล้ว อย่างนักแสดงสาว พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร และ นริสสา อมรวิวัฒน์ ภรรยาของอดีตพิธีกรรายการเจาะใจ นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมประดิษฐ์เต้านมเทียมเพื่อบริจาคให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยกลุ่มเพื่อนทอฝัน จิตอาสาจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล เผยว่า มะเร็ง เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ จึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการตายของเซลล์ในก้อนเนื้อนั้น เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด ส่วนในเพศหญิงมะเร็งที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก มะเร็งแต่ละชนิดมีการดำเนินของโรคไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็น ระยะของมะเร็ง และสภาพของผู้ป่วย อาการเบื้องต้นที่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็ง จะมีอาการน้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้
"เมื่อสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็ง ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคแล้วควรรีบเข้ารับการรักษาจะเป็นผลดีที่สุด ปัจจุบันการรักษามะเร็งก้าวหน้าไปมาก มีทั้งการรักษาเฉพาะจุด การรักษาประคับประคอง การแก้ปัญหาภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีโอกาสหายเพิ่มสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือแม้ไม่หายขาด ก็มียาที่สามารถควบคุมให้โรคสงบลงได้ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จึงขอแนะนำว่าเมื่อเป็นมะเร็งให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรหาข้อมูลเองตามเว็บไซต์ หรือไปหายามาทานเองตามคำโฆษณาว่าสามารถรักษามะเร็งได้อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการรักษาตัวช่วยในการรักษาที่ควรให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือควรปรับทัศนคติทั้งของตัวผู้ป่วยเอง และครอบครัวรวมถึงคนรอบข้าง เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่ควรทำ ต้องมีสติรับมือกับมัน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะแพ้มัน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องมีกำลังใจครอบครัวและคนรอบข้างก็ต้องช่วยกันเป็นกำลังใจ อย่ากลัว ต้องมีความมั่นใจว่าตนเองต้องหาย แม้ระหว่างรักษาอาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้างในระยะที่ให้เคมีบำบัด แต่สักพักร่างกายก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้
สำหรับวิธีป้องกันโรคมะเร็ง แม้จะยังไม่มีวิธีใดที่จะรับประกันว่าสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้แน่นอน แต่มะเร็งหลายชนิดเราก็รู้วิธีที่จะลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้ เช่น ไม่สูบบุหรี่ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดก็จะน้อย ไม่ดื่มสุรา โอกาสเกิดมะเร็งตับก็จะลดลง พยายามดำเนินชีวิตบนความพอดีทั้งการรับประทานอาหาร ก็ไม่ควรทานอาหารแบบเดิมซ้ำๆ อาหารประเภทปิ้งย่างก็ไม่ควรรับประทานบ่อย และควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญต้องไม่เครียด เพราะทุกคนมีเซลล์ที่พร้อมจะเป็นมะเร็งได้ทุกเมื่อ เพียงแต่ร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มมะเร็งอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีสภาวะเครียด จิตตก ร่างกายมีการทำงานหนัก ภูมิคุ้มก็จะตก ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้" ศ.นพ.สุรพล กล่าว
ด้านนักแสดงสาว พิมพ์-พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร ก็ได้เผยประสบการณ์ในการป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ของตนว่า ก่อนหน้าที่จะรู้ว่าเป็นมะเร็ง ตนไม่เคยตรวจสุขภาพเลย ชะล่าใจคิดว่าตนเองแข็งแรง การตรวจสุขภาพ การพบแพทย์ เป็นเรื่องที่ไกลตัว จนมีอาการท้องป่องผิดปกติ ถึงได้ไปพบแพทย์
"ตอนแรกที่รู้ว่าเป็นก็ตกใจมาก สาเหตุที่เป็นก็ระบุไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะใช้ชีวิตดีแค่ไหน ออกกำลังกายทุกวันก็สามารถเป็นมะเร็งได้ ตอนที่รู้ก็ไม่มีวิธีการรับมือใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ช่วงแรกๆ ก็ปล่อยวางไม่ได้ แต่พิมพ์ก็พยายามมองโลกในแง่บวก ให้กำลังใจตัวเอง และก็มีคุณแม่เป็นกำลังใจสำคัญ รวมทั้งได้กำลังใจจากพี่น้องในวงการบันเทิง การรักษาใช้เวลานาน มันยากมากที่จะผ่านไปได้ถ้าไม่มีกำลังใจเหล่านี้ ปัจจุบันผลตรวจเลือดก็เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังตามอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแน่ใจว่ามะเร็งจะไม่กลับมาอีก การป่วยในครั้งนี้ ทำให้เราได้คิดว่า ชีวิตที่ผ่านมาได้ดำเนินชีวิตเต็มที่แล้วหรือยัง ชีวิตที่เหลือจากนี้จะทำประโยชน์อะไรให้กับคนอื่นได้บ้าง พิมพ์กลายเป็นคนที่มีความสุขง่ายขึ้น และหลังจากได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมยิ่งทำให้รู้ว่า โรคภัย ความเจ็บป่วยทั้งหลายมันสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ เมื่อใจเราแข็งแรงพอค่ะ" พิมพ์มาดา กล่าว
มาต่อกันที่ แอ้ นริสสา อมรวิวัฒน์ ภรรยาของอดีตพิธีกรรายการเจาะใจ ผู้เคยผ่านการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาถึง 2 ครั้งก็เผยเช่นเดียวกันว่า เพราะได้กำลังใจจากสามีและครอบครัว จึงทำให้สามารถก้าวผ่านจากการเจ็บป่วยมาได้
"ตอนที่ทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตกใจมาก เพราะไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรเลย ตอนที่เป็นครั้งแรกแพทย์ก็ให้คีโม 6 ครั้ง โรคก็หายไป หลังจากนั้นก็ได้ติดตามเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ปรากฎว่ากลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้งจึงต้องเปลี่ยนมารักษาอีกรูปแบบหนึ่ง ให้คีโมสูตรที่แรงขึ้น รวมถึงปลูกถ่ายไขกระดูสเต็มเซลล์ของตัวเองช่วงที่รักษารอบที่สองมีผลข้างเคียงเยอะมาก มีแผลในปาก แค่กลืนน้ำก็ยังเจ็บ ทรมานมากตอนนั้นเลยร้องไห้ซึ่งเป็นการร้องไห้ครั้งแรกและครั้งเดียวของการรักษา พอได้สติก็บอกตัวเองให้หยุดร้อง เพราะคิดได้ว่าขณะที่คิดว่าเจ็บปวดที่สุด แต่เราไม่รู้ว่านั่นคือการเจ็บที่สุดแล้วหรือยัง แล้ววันต่อๆ ไปไม่รู้จะเจ็บกว่านี้อีกไหม ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองเศร้า เครียด ก็จะยิ่งแย่ เพราะความเจ็บปวดและผลข้างเคียงทั้งหลายที่เกิดขึ้นมันจำเป็นที่จะต้องเกิดเพื่อให้เราหาย
สิ่งที่ทำให้แอ้คิดแบบนี้ได้และไม่สิ้นหวังจากการรักษา ก็เพราะได้กำลังใจจากคนครอบครัว คนรอบข้าง ตอนที่เป็นมะเร็ง สามีก็อยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจตลอด และบอกกับแอ้ว่า ถึงจะเป็นมะเร็ง เราก็สามารถมีความสุขได้ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ตอนนี้แอ้ไม่เป็นมะเร็งแล้ว แต่ก็ยังมีให้ยาป้องกันทุกๆ 3 เดือนค่ะ จากการที่แอ้ป่วยเป็นมะเร็งถึง 2 ครั้ง มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร ให้คิดซะว่าเราแค่มีโรคนั้นอยู่ในร่างกาย อยู่แค่ตัว แต่ใจเราไม่ได้เป็นโรคนั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้เป็นมะเร็งทั้งตัวและใจแล้ว ความกังวล ความกลัว เหล่านี้คือมะเร็งที่อยู่ในใจ แย่กว่ามะเร็งในร่างกาย ไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไร อย่าให้ความเจ็บป่วยมาครอบงำใจเรา" นริสสา กล่าว
ปิดท้ายกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง อัฉราวรรณ เลิศชัยศิริกุล ซึ่งเป็นอีกคนที่เคยป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ และต่อสู้กับโรคร้ายจนหายดี แต่เธอก็ยังไม่หยุดที่จะหาความรู้ เพื่อป้องกันและเผื่อแผ่ข้อมูลกับคนรอบข้าง
"การเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้ทราบถึงวิธีคิด วิธีปฏิบัติตัวของผู้ที่เคยป่วยคนอื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ได้ความรู้เรื่องมะเร็งเพิ่มจากคุณหมอ เพราะถึงแม้จะหายแล้วก็ยังต้องติดตามอาการอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นอีก ซึ่งก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก สามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และกิจกรรมในวันนี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือการได้มาส่งมอบกำลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ ผ่านการประดิษฐ์เต้านมเทียมเพื่อบริจาคให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นการส่งต่อกำลังใจถึงพวกเขาเหล่านั้น เหมือนตอนที่ตัวเองป่วย ก็ได้รับกำลังใจทั้งจากครอบครัวและคนรอบข้าง ตอนนี้หายป่วยแล้วก็เลยอยากส่งมอบกำลังใจเหล่านั้นไปให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ เช่นกันค่ะ" อัฉราวรรณ ฝากทิ้งท้าย
ทั้งนี้ตลอดเดือนตุลาคม สสส.ยังมีกิจกรรมดี ๆ อีกมากมาย นำโดยกิจกรรมไฮไลท์ ในวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม วัยเรียน วัยรุ่นที่ต้องการค้นหาตัวเองว่า อยากเรียน หรืออยากทำงานอะไร หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการปลุกไฟในตัวเอง พลาดกับไม่ได้กับกิจกรรม "Discovery You" โดย อาจารย์จิตตพัฒน์ โห่กุศลสินธุ์ โค้ชชื่อดังที่ปลุกแรงบันดาลใจให้ผู้คนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ที่จะมาแนะแนวทางให้คุณค้นพบจุดหมายปลางทางของชีวิตที่ต้องการ รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
ผู้สนใจ สามารถร่วมกิจกรรมได้ฟรีทุกวันเสาร์ ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี กรุงเทพฯ โดยสามารถลงทะเบียนร่วมกิจกรรมด้วยการส่งชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ระบุกิจกรรมที่สนใจมาที่ [email protected] หรือสอบถาม
เพิ่มเติมได้ที่ 08 1731 8270 (09.00-17.00 น. จันทร์-เสาร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ Line ID: thaihealth_centerรวมทั้งติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihealth.or.th/sook
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit