แหล่งกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) จะเป็นตัวเปลี่ยนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ช่วยให้เกิดโซลูชั่นด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและยั่งยืน
ร้อยละ 45 ของผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานที่เอคเซนเชอร์ทำการสำรวจมาทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทย) ยอมรับว่ารูปแบบการจำหน่ายไฟฟ้าที่ใช้กันแบบเดิมนั้น ไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของผู้บริโภคในปัจจุบันแล้ว รายงานวิจัยของเอคเซนเชอร์เรื่อง "โครงข่ายไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล" (Digitally Enabled Grid) ที่จัดทำเป็นครั้งที่ 3 ระบุว่า หากธุรกิจไฟฟ้ายังไม่ปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับยุคใหม่ ที่คำนึงถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การกำกับดูแลด้านพลังงาน (Regulatory) และรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) อาจต้องพบกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ในเรื่องของความน่าเชื่อถือในด้านการจัดหาพลังงานและราคา
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโครงข่ายไฟฟ้าเป็นความท้าทายที่สำคัญของธุรกิจพลังงาน เอคเซนเชอร์ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารในอุตสาหกรรม 85 คน ใน 18 ประเทศ พบว่า มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 56) ของผู้บริหารเหล่านี้ คาดหมายว่า ภายในปีพ.ศ. 2563 ความผิดพร่องของโครงข่ายไฟฟ้า (grid faults) อาจเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีโครงข่ายที่กระจายไปใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในที่พักอาศัย เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจที่พัฒนามากขึ้น อาจทำให้แหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (electricity storage) กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ร้อยละ 32 ของผู้บริหาร ก็คาดว่านี่จะเป็นสาเหตุหนึ่งของความผิดพร่องในโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปีพ.ศ. 2556
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุม เอคเซนเชอร์ได้พัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินผลกระทบที่เป็นไปได้ จากการที่โครงข่ายไฟฟ้าต่างมีแหล่งกักเก็บพลังงานไว้ใช้มากขึ้น ซึ่งแสดงผลว่า ราคาของแหล่งกักเก็บพลังงานที่ถูกลง จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจต่อการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในที่พักอาศัย ดังเช่นในประเทศเยอรมนี ที่ราคาการขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลับเข้ามาในระบบโครงข่ายนั้น มีราคาต่ำกว่าราคาขายปลีก สำหรับที่อื่นเช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีการเก็บค่าไฟในอัตราพิเศษในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง
"ในขณะที่ผู้บริโภคลงทุนจัดหาแหล่งกักเก็บพลังงานมาใช้ในที่พักอาศัยของตน ซึ่งทำให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าที่สะสมไว้แทนที่จะซื้อจากโครงข่ายในช่วงที่ราคาและความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าจะประสบกับภาวะที่อุปสงค์และการใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายน้อยลง ส่งผลต่อปริมาณการใช้ทรัพยากรของโครงข่ายและรายได้ของธุรกิจเหล่านั้น " ภากร สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพลังงานและทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าธุรกิจไฟฟ้ากำลังเรียนรู้จากประสบการณ์ในธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว นิยมนำเข้ามาใช้ในที่พักอาศัย แต่ยังขาดแนวทางจัดการการใช้พลังงานจากหลายแหล่งให้ผสมผสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังขาดการพัฒนาบริการเสริม เช่น การติดตั้ง การบำรุงรักษา และการจ่ายโหลดที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเปิดช่องว่างให้คู่แข่งใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าต่างตระหนักว่า เซลล์แสงอาทิตย์และแหล่งกักเก็บพลังงาน ได้เข้ามาสร้างความสั่นคลอนทางธุรกิจ หากพวกเขาไม่รีบจัดการคุมเกมก่อน"
ขณะที่ตลาดแหล่งกักเก็บพลังงานจะกลายเป็นสนามแข่งขันที่เข้มข้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่ผู้บริหารธุรกิจไฟฟ้าก็ไม่ได้ยึดติดอยู่กับสนามเดียว ร้อยละ 66 ของผู้บริหารคาดการณ์ว่าการแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ 48 ที่คาดการณ์ในปีพ.ศ. 2556 นอกจากนี้ ผู้บริหารกว่าร้อยละ 77 กำลังวางแผนลงทุนหรือได้ลงทุนไปแล้วในโซลูชั่นเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับตลาดช่วง 10 ปีข้างหน้า
ซ้าย: 45% ของผู้บริหารกิจการไฟฟ้าที่ทำแบบสำรวจ ระบุว่าระบบการจำหน่ายไฟฟ้าแบบดั้งเดิมไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์แล้ว
ขวา: 77% ของผู้บริหารกิจการไฟฟ้าที่ทำแบบสำรวจ ได้ลงทุนไปแล้วหรือมีแผนจะลงทุนในโซลูชั่นแหล่งเก็บกักพลังงานในช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า
"แหล่งกักเก็บพลังงานนั้นอาจกระตุ้นให้เกิดการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้นโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้าได้ด้วย หากมีการใช้แหล่งกักเก็บพลังงานทั่วทั้งโครงข่าย จะสามารถลดข้อผิดพร่องอันเกิดจากการนำส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไปยังโครงข่าย" ภากรกล่าวต่อ "นอกเหนือไปจากนั้น แบบจำลองทำให้เราพบว่า เครือข่ายแหล่งกักเก็บพลังงานขนาดเล็กนั้น ส่งผลต่อการลดกำลังกระแสไฟส่งออกจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ตามที่พักอาศัย ไปยังโครงข่ายได้ถึงร้อยละ 50"
นอกจากนี้ การลงทุนในโซลูชั่นเพื่อการกักเก็บพลังงานเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่กิจการไฟฟ้า โดยเกือบครึ่ง(ร้อยละ 47) ของผู้บริหารที่ทำแบบสำรวจ คาดว่ารายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือเพิ่มได้มาก จากการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จนถึงปีพ.ศ. 2573 ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ในอีก 5 ปีนับจากนี้ เกือบครึ่ง (ร้อยละ 49) ของผู้บริหารก็คาดว่าจะสามารถให้บริการเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บระดับโครงข่ายได้ และร้อยละ 30 เห็นว่ามีแนวโน้มจะให้บริการเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บพลังงานสำหรับที่พักอาศัย เช่น บริการด้านการบำรุงรักษาต่าง ๆ เป็นต้น
การที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้แหล่งกักเก็บพลังงานให้ได้อย่างเต็มที่นั้น กิจการไฟฟ้าจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทในการจัดจำหน่าย แม้กระนั้น กิจการส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีเพียงร้อยละ 15 ของผู้บริหารกิจการนี้ทั่วโลก และร้อยละ 29 ในยุโรป ที่ยอมรับว่าได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรแล้ว
มาตรการการกำกับดูแลในปัจจุบันถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้น จึงต้องทำงานร่วมมือกับผู้ออกนโยบายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านและรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารเชื่อว่ากฎเกณฑ์ 3 เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้แก่ รูปแบบการจัดเก็บภาษีและตั้งราคา (ร้อยละ 84) บทบาทที่มากขึ้นของกิจการจำหน่ายไฟฟ้าในการอนุญาตและให้สิทธิการเชื่อมต่อเพื่อใช้ทรัพยากร (ร้อยละ 66) และสิทธิพิเศษสำหรับการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโครงข่าย (ร้อยละ 64) เพื่อพัฒนาโครงข่ายด้วยระบบดิจิทัล
"เราคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดในระดับพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการใช้กลไกของตลาดที่แข่งขันให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจพลังงานและจำหน่ายไฟฟ้าก็จำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ร่วมมือกับหน่วยงานกำกับเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และลงทุนในโซลูชั่นต่าง ๆ อย่างมียุทธศาสตร์ อันจะช่วยสนับสนุนโครงข่ายไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล และมีแหล่งพลังงานกระจายตัวออกไป สร้างทางเลือกและคุณค่าใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง" ภากรกล่าวสรุป
วิธีวิจัย
รายงานวิจัยประจำปีของเอคเซนเชอร์เรื่อง "โครงข่ายไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล" (Digitally Enabled Grid) ได้ประเมินสภาพการณ์และโอกาสต่าง ๆ ของโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น การวิจัยประจำปี 2559 นี้ ได้รวมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ผู้บริหารในแวดวงพลังงาน 85 คน ใน 18 ประเทศ จัดทำขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงมกราคม2559 ผู้บริหารที่ให้สัมภาษณ์ล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 65 ที่เป็นผู้บริหารจากกิจการพลังงานระบบรวม และอีกร้อยละ 35 มาจากกิจการพลังงานอิสระที่ไม่ได้เชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ผู้บริหารเหล่านี้เป็นตัวแทนของประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา จีน (และฮ่องกง) เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สเปน ไทย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เอคเซนเชอร์ยังได้จัดทำแบบจำลองเพื่อประเมินว่าแหล่งกักเก็บพลังงานและการตอบรับของตลาด จะนำมาใช้สนับสนุนการบริหารโครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างไร
ข้อมูลเกี่ยวกับเอคเซนเชอร์
เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดิจิทัล การบริหารเทคโนโลยีและการปฏิบัติการ ชั้นนำของโลก และด้วยประสบการณ์ การทำงานอย่างลึกซึ้ง ผนวกกับศักยภาพที่สมบูรณ์แบบในกว่า 40 อุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทุกสายงานของธุรกิจ พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า เชื่อมต่อธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ยกระดับองค์กรของลูกค้าให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและสมรรถภาพสูง สามารถสร้างคุณค่าอันยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นได้ ปัจจุบันเอคเซนเชอร์ มีพนักงานประมาณ 373,000 คนในกว่า 120 ประเทศ เอคเซนเชอร์มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์www.accenture.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit